วันที่ 8 ก.ย. 67 ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย Thailand Can ร่วมกับมูลนิธิการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประชาสังคม Civicnetจัดกิจกรรมเนื่องใน วันอากาศสะอาดโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันอากาศสะอาดสากล หรือ International day of clean air ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Unmask the future” โดยเปรียบหน้ากากจะเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องเราจาก PM2.5 แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิต ใช้สิทธิ์ และใช้เสียงของเราได้อย่างเต็มที่
ในโอกาสวันอากาศสะอาดโลกปีนี้ เครือข่ายอากศสะอาดได้ชวนประชาชน และภาคีเครือข่ายมาร่วมกันจัดกิจกรรม “ถอดและปลดเปลื้อง” ข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อแสดงออกถึงสิทธิของเราในการได้รับอากาศที่สะอาดและผลักดันให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ในงานมีกิจกรรมเสวนา หลากหลายที่จะสร้างให้เกิดความตื่นรู้ในประชาชน และเป็นเวทีในการแสดงออกถึง “พลังของพลเมือง” ว่าเขามีความเข้าใจในประเด็นเรื่องอากาศสะอาดมิติต่าง ๆ อย่างไร และจะสะท้อนไปถึงว่ามิติต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถ ไปปรากฏอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ได้หรือไม่
หัวข้อที่ 1 กฎหมายกับศาสนา :ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ อากาศสะอาด และกฎหมาย
โดยได้รับเกียรติจาก
• พระอาจารย์ชายกลาง อภิญาโน จากวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
• บาทหลวงยอห์น บอสโก สุวัฒน์ เหลืองสะอาด รองเลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
• อาจารย์ณัฐพล (นาเดส) ลามอ คอเต็บประจำมัสยิดสะฟีรุสซาลามเขตหนองจอก
มาร่วมเปิดประเด็น โดยมี คุณเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ รับหน้าที่ดำเนินรายการ
ประเด็นเด่นจากเวทีเสวนา
• ศาสนาอิสลาม กับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหลักคิดสำคัญเพียงหนึ่งเดียวคือ “ความเป็นเอกภาพ” นั่นคือทุกชีวิตดำรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันของพระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียวความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่ของมุสลิมที่ดีเป็นหนึ่งข้อจริยธรรมที่มุสลิมทั่วโลกต้องตระหนักรู้
• หลักคิด 7 ประการเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในมุมของ คริสต์ศาสนา คือ
1. ธรรมชาติรู้ดีที่สุด – ธรรมชาติมีระบบการจัดการตัวเองที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งมนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในระบบนี้ แต่แนวคิด ‘มนุษย์นิยม’ ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล ได้กลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่าง ๆ ที่แก้ไขไม่ได้ในโลกปัจจุบัน
2. สิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบล้วนสำคัญเสมอกัน มนุษย์จะละเลยหรือด้อยค่าชีวิตอื่นใดในโลกที่ต่างจากเราไม่ได้
3. สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเชื่อมโยงต่อกันและพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครสามารถดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว
4. ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัติของธรรมชาติ แต่มนุษย์เราไปก้าวก่ายทำให้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรง ผิดธรรมชาติไปหมด
5. ทุกสิ่งในโลกธรรมชาติมีที่มาที่ไปของมัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เรากิน ต้นไม้ใบหญ้า ถึงจุดหนึ่งมันจะย่อยสลายกลายเป็นดิน แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นใหม่ เช่น พลาสติก ปูนซีเมนต์ กลับไม่ย่อยสลายตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เราสร้างสิ่งที่ฝืนธรรมชาติขึ้นมาเอง จนเป็นภัยต่อชีวิตเราเองในเวลาต่อมา
6. โลกมีทรัพยากรจำกัด แหล่งพลังงานที่เราหยิบยืมจากธรรมชาติก็มีจำกัด ไม่ว่าจะจากฟอสซิลสู่เชื้อเพลิง จากลิเธียมสู่แบตเตอรี่ไฟฟ้า ฉะนั้นถ้าเราไม่ฝึกหัดใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและกระจายอย่างเป็นธรรม ปัญหาก็จะเกิดวนเวียนไปไม่มีวันจบ
7. ธรรมชาติงดงามคือของขวัญจากพระเจ้า และมนุษย์ทุกคนมีหน้าที่พิทักษ์ธรรมชาตินี้ร่วมกัน
• กฎหมายที่ดี ไม่สามารถอยู่แบบโดดเดี่ยว กฎเกณฑ์ใดในสังคมที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีพลัง จำต้องยึดโยงกับหลักจริยธรรมและความเชื่อของมนุษย์ในสังคมนั้นเสมอ
• ทุกศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบยกมาใช้ให้ถูกต้องหรือไม่ เช่นในพุทธศาสนาเองก็มีคำสอนว่า ไม่ให้เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ทำลายป่า ไม่ให้ทิ้งของส่วนเกิน ไม่ให้เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อย ฯลฯ แต่คนไทยส่วนหนึ่งทุกวันนี้ พอเกิดเหตุร้าย เกิดภัยธรรมชาติ แทนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลักคำสอน กลับไปหมกมุ่นที่การบนบานสานกล่าว ขอให้พระคุ้มครอง กล่าวโทษสิ่งเร้นลับ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักเหตุและผลของศาสนาพุทธแต่อย่างใด
• การฟื้นฟูดูแลธรรมชาติในประเทศไทยควรกลับมาตั้งต้นใหม่ที่เยาวชน สังคมควรส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างความตระหนักรู้ และเติมสำนึกรับผิดชอบในกลุ่มเยาวชนเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตั้งแต่ระดับทัศนคติ มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ มองเห็นภาพใหญ่ และที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน การได้เรียนรู้เชิงลึกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจะนำเยาวชนไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม
บทสรุป
ทุกศาสนาล้วนมีหลักความเชื่อและคำสอนให้มนุษย์มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาและเคารพธรรมชาติรอบตัว กฎหมายและกฏสังคมต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ล้วนเป็นสิ่งที่มีรากฐานเชื่อมโยงกับคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้นอย่างไรก็ดี เราทุกคนมีหน้าที่ต้องชำระหลักเชื่อของตนเอง เพื่อให้ความคิดอ่าน ความเข้าใจในธรรมชาติ รวมถึงมุมมองต่อข้อกฎหมายใด ๆ ของเราเป็นไปในทิศทางที่สร้างประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ และยังผลดีต่อโลกใบนี้ในอนาคต
ในเวทีเสวนาที่ 2 เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก 3 บุคลากรการแพทย์ร่วมถกประเด็นผ่านมุมมองทั้งของแพทย์ผู้รักษา แพทย์ที่ทำงานร่วมภาคประชาสังคม และแพทย์ที่ทำงานภาคนโยบาย บนหัวข้อ การตายก่อนวัยอันควร (Premature Death) กับอากาศสะอาดเพื่อความยั่งยืนและอายุยืน : สองเรื่องในกฎหมายอากาศสะอาดที่แยกออกจากกันไม่ได้
• ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้เชี่ยวชาญโรคจากสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข
• นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท จากสํานักวิชาการสาธารณสุข สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ
• รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยงานนี้มี
พ.ท.ธนศักดิ์ ภัมภ์บรรฑุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ
สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประเด็นเด่นจากเวทีเสวนา
• มนุษย์เราหายใจตั้งแต่เกิดจนตาย ราว 1,500 - 2,000 ล้านลิตร คุณภาพของอากาศที่เราหายใจ
• จึงสำคัญมาก ในประเทศไทยมีการติดตามคุณภาพอากาศมานานหลายสิบปี แต่จำกัดอยู่แค่ในวงแคบ ๆ ของนักวิจัย คนทั่วไปไม่ได้ตื่นตัวเรื่องฝุ่น PM2.5 จนกระทั่งเกิดวิกฤตฝุ่นหนักในกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 น่าเสียดายว่าเราจะตื่นเต้นโวยวายกันแค่ในฤดูฝุ่นเท่านั้น ทำให้กฎหมายอากาศสะอาดฯ โดนกฎหมายอื่นแซงหน้าตลอดด้วยเหตุผลว่า ‘คนไทยยังไม่รีบ’
• จากจุดนี้ไปคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าคนไทยจะเห็นภาพกฎหมายอากาศสะอาดที่ชัดเจน ซึ่งในฐานะแพทย์ที่ทำงานโดยตรงกับประชาชน ยังเป็นกังวลที่ประเทศไทยตั้งค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศดีไว้ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่ควรมี PM2.5 ในอากาศเกินจุดนี้) ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่า
• ในการยกระดับสุขภาพสังคม ความเข้าใจต่อข้อมูลถือเป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐมีหน้าที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึง ‘ดัชนีคุณภาพอากาศ’ ได้อย่างทั่วถึงและตรงกับความเป็นจริง สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ การได้รับการแจ้งเตือน และได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน สิ่งที่สังคมไม่ชอบคือการโกหกเรื่องข้อมูล ทุกวันนี้รัฐทำเสมือนว่าประชาชนไม่ฉลาดพอที่จะทำความเข้าใจ แต่ในความเป็นจริงเราแค่เข้าไม่ถึงข้อมูลที่ดีพอต่างหาก
• ในการเยียวยาปัญหาฝุ่น PM2.5 รัฐต้องชัดเจนว่าใครบ้างที่ควรได้รับความช่วยเหลือ และเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบใด สังคมไทยวันนี้มีความเหลื่อมล้ำสูง กลุ่มเปราะบางจริง ๆ ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีกระทั่งอินเทอร์เน็ต กฎหมายอากาศสะอาดจะทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มปกป้องตนเองจากมลพิษทางอากาศได้อย่างเท่าเทียม
• ข้อมูลการตายก่อนวัยอันควร (Premature Death) ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าอายุคาดเฉลี่ยตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิตของผู้ชายไทยอยู่ที่ 72 ปี ผู้หญิง อยู่ที่ 80 ปี หากตายก่อนอายุนี้ถือว่าเป็น “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” ซึ่งจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พบว่าโรคที่เกิดมลพิษทางอากาศ อันได้แก่ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็งหลอดลมและปอด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของคนไทยในปัจจุบัน
• โรคจากมลพิษทางอากาศนั้นมีอยู่จริง สังเกตได้จาก 5 กลุ่มอาการหลัก ๆ คือ
1. หอบเหนื่อยหรือไอมากกว่าปกติ มีเสมหะมากขึ้นกว่าปกติ
2. ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด
3. เจ็บเค้นที่บริเวณอกอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หรือขณะพักนานกว่า 20 นาที ใจสั่น
4. เหงื่อออกมากกว่าปกติ วิงเวียน หน้ามืด หมดสติ
5. ตาแดง แสบเคืองตา น้ำตาไหลมาก มีขี้ตา ตาแห้ง สู้แสงไม่ได้ ตามัว
6. มีแผลถลอกที่กระจกตาหรือเยื่อบุตา
7. ผิวหนังมีผื่นแดง คัน มีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำ มีผื่นบวมนูนแดงแบบผื่นลมพิษ
• วิธีคิดในการทำงานด้านสุขภาพและเรื่องการตายก่อนวัยอันควรนี้ จึงควรเกี่ยวโยงอยู่ในกฎหมายอากาศสะอาดของไทยในอนาคต โดยทุกภาคส่วนของสังคมทั้งคนรวย คนจน คนชั้นกลาง จะต้องตระหนักรู้ และต้องมีบทบาทในการร่วมจัดการปัญหาตามสถานะของตน โดยกำหนดกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมเสียก่อน เพื่อว่าลูกหลานของเราจะได้มีอากาศสะอาดหายใจในอนาคต สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวอย่างที่เขาควรจะเป็น
บทสรุป
มลพิษทางอากาศกำลังทำให้สังคมไทยประสบกับปัญหาต่อเนื่องเรื้อรังในหลายด้าน ตั้งแต่ด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ไปจนถึงด้านสังคม เรากำลังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น มีภาระโรคมากขึ้น และระบบสุขภาพของไทยกำลังจะต้องแบกรับค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงถึง 11% ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2573 (หากไม่มีการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างจริงจัง) สถานการณ์ฝุ่นพิษที่กัดกินสุขภาพสังคมอยู่ขณะนี้ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของภาคการเมืองที่จะต้องทุ่มเทแก้ไข เพื่อจะนำความยุติธรรม และสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน กลับคืนมาให้ประชาชนไทยอีกครั้ง
บนเวทีเสวนาลำดับที่ 3 ของงาน “Unmask the future” : ขอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่นึงเราจะได้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดแบบไหน? และกี่โมง?
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen for Clean Air) ส่ง 3 ตัวแทนจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ มาชวนคุยถึงเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ในหัวข้อ “ขอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่นึง” กับ “เราจะได้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดแบบไหนและกี่โมง” ซึ่งเป็นหัวข้อที่เชื้อเชิญชาวบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ให้ทบทวนถึงบทบาทที่เราสามารถจะมีได้ในฐานะ ‘ประชาชนคนหนึ่ง’
ประเด็นเด่นจากเวทีเสวนา
• การร่วมเป็น Active Citizen for Clean Air หมายถึง การก้าวขึ้นเป็นตัวแทนพลเมืองที่ประสบภัยพิบัติจากฝุ่น ที่ตั้งใจเข้าร่วมเรียนรู้กฎหมาย เรียนรู้ปัญหาเชิงลึก และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นี้ร่วมกัน ปัจจุบันกลุ่มเครือข่าย Active Citizen for Clean Air มีสมาชิกรวมกว่าร้อยคนแล้ว แต่ละภาคส่วนได้ช่วยกันทำงานค้นคว้าและค้นหาเครื่องมือเชิงโครงสร้างที่จะนำ ‘เราทุกคน’ ไปสู่ทางออกของปัญหามลพิษทางอากาศสำหรับบนเวทีนี้ ตัวแทนระดับหัวกะทิที่มาร่วมเสวนา ได้แก่
1. สงบ อินเทพ รองประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย
2. ธชณัฐ ภัทรสถาพรกุล อาจารย์คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และ
3. จตุพร เมืองหมิ้น นักศึกษาปริญญาเอก วิชาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
• คนทั่วไปเมื่อสัมผัสกับอากาศไม่ดีเป็นเวลานานก็จะเริ่ม “ชิน” แต่เครือข่ายพลเมืองตื่นรู้ คือกลุ่มคนที่จะไม่ยอมชินและไม่ยอมอดทนต่อเรื่องนี้ เพราะพวกเขามองว่าสิทธิในอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน พวกเขาจึงส่งเสียงเรียกร้องออกไปสู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีการและช่องทางต่าง ๆ กัน พร้อมรณรงค์กับเพื่อนร่วมชาติให้เกิดความตื่นรู้และตื่นตัวต่อปัญหา รับรู้ว่าใครเป็นผู้ก่อปัญหา และเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหานี้ให้มาจับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน
• ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายขอความร่วมมือในช่วงเดือนเมษายน ให้ภาคเกษตรกรรมลดการเผาในป่า ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ฝ่ายปกครอง และประชาชน มีการใช้แอปพลิเคชันติดตามไฟ ประชาชนเองก็ตื่นรู้มากขึ้น แต่พอเราต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนซ้ำเติมมาอีก พ.ร.บ.อากาศสะอาดจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและสำคัญอย่างมากในการจัดการกับปัญหาระดับนี้
• ในเชิงกฎหมาย จำเป็นต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าผู้ก่อมลพิษคือผู้ที่ต้องจ่ายค่าจัดการมลพิษด้วย ไม่ว่าจะผ่านรูปแบบของภาษี ค่าปรับ เงินสบทบกองทุน ฯลฯ การรณรงค์ให้คนหยุดสร้างมลพิษ แต่ไม่มีบทลงโทษหรือเครื่องมือช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
• บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุน” อาจทำให้ความพยายามในการก่อตั้ง “กองทุนอากาศสะอาด” ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากภาคการเมืองเท่าไรนัก เพราะภาคการเมืองมีความเชื่อมโยงกับทุนใหญ่ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จึงไม่กล้าเดินหน้าเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่
• วิเคราะห์การทำงานของภาครัฐ แรงจูงใจในการทำงานของเขาคือการทำ ‘พันธกิจ’ ส่วนงานอื่นใดอะไรที่อยู่นอกเหนือพันธกิจเขาจะไม่ทำ เพราะอาจขัดแย้งกับงานที่เป็นภารกิจหลักของเขา เช่น หน่วยงานที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถไปบอกผู้ประกอบการให้ลดการปล่อยมลพิษ ฯลฯ ซึ่งหากมี พ.ร.บ. อากาศสะอาดมาควบคุมก็จะช่วยปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ โดยทำให้การจัดการอากาศสะอาดเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของเขา
บทสรุป
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่กำลังพิจารณากันในสภาฯ ขณะนี้ถูกคาดหวังจากประชาชนไทยว่า จะเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ควรต้องให้ความชัดเจนให้แก่สมาชิกสังคมทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายปกครอง ภาคเอกชน นักวิชาการ ฯลฯ ต่อเรื่องที่เป็นสิทธิพื้นฐาน ความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ และสามารถมอบเครื่องมือให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจัง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญคือสามารถทำให้การช่วยเหลือและการคุ้มครองแก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทันเหตุการณ์ และเห็นผลดีอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
Unmask the Future หัวข้อ 4: อากาศของเรา สิทธิของเรา ทางเลือกของเรา อนาคตของเรา
(Our Air, Our Right, Our Choice, Our Future)
ทุกวันนี้ ‘หน้ากาก’ ดูจะเป็นแอคเซสซอรี่จำเป็นในชีวิตของเราคนไทยไปเสียแล้ว แม้ว่าข้อดีของมันคือการปกป้องเราจากฝุ่น PM2.5 แต่อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ข้อจำกัด’ ที่พวกเราไม่สามารถใช้ชีวิต ใช้สิทธิใช้เสียง ของเราได้อย่างเต็มที่ เครือข่ายสะอาดประเทศไทย จึงถือโอกาสในวันอากาศสะอาดโลก (International Clean Air Day) เชิญชวนพวกเราคนไทยมาร่วมปลดเปลื้องข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อแสดงออกถึงการตระหนักรู้ในสิทธิของเราที่จะได้หายใจอากาศสะอาด และผลักดันทุกภาคส่วนในสังคม
ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมารับผิดชอบต่อการกระทำของตน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของพวกเราทุกคน
ในเวทีเสวนาลำดับที่ 4 ของงานนี้ เราได้รับเกียรติจาก :
ผ.ศ.ว่าน วิริยา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อมตา จิตตะเสนีย์ (แพรี่พาย) นักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และ ดร.จิราวรรณ คำซาว ตัวแทนชาวถิ่นนิยม คนกล้าคืนถิ่น ผู้พัฒนาความหลากหลายทางนิเวศในอำเภอเชียงดาว มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องอากาศสะอาด
โดยมี พรเพ็ญ วงศ์กิจมโนชัย จากเครือข่ายสะอาดประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประเด็นเด่นจากเวทีเสวนา
• การสื่อสารเรื่องอากาศสะอาดไปในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่ออนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจต้องสื่อสารกับเด็ก ๆ ด้วยภาษาและจริตที่เขาจะรู้สึกว่าน่าสนใจ เข้าใจง่าย รวมถึงอยากถ่ายทอดต่อ และพร้อมลงมือทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเขาเอง
• ในมุมของผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ เป็นเรื่องยากที่เขาจะมีความตระหนักรู้ต่อความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของป่าต้นน้ำ หรือพืชพรรณธรรมชาติต่าง ๆ เพราะวิถีชีวิตเขาอาจยังไม่ได้สัมผัสกับผลกระทบของ Climate Change โดยตรง
• การทำเกษตรสมัยเก่าใช้สารเคมีมาก ยิ่งถ้าอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำยิ่งเป็นอันตราย การจะเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรต้นน้ำได้ต้องอาศัย ‘การลงมือทำ’ ของคนในพื้นที่เป็นตัวอย่าง เมื่อทำพื้นดินต้นน้ำให้สะอาดขึ้นได้ ก็จะนำมาซึ่งผลผลิตที่ดี เกษตรกรสามารถปลูกพืชที่มีความหลากหลายเป็นทางเลือกให้ผู้คน ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
• การขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุด คือการทำให้ผู้คนได้สัมผัสกับการ ‘ลงมือทำ’ กระตุ้นให้เขารู้ว่ากิจกรรมชีวิตและพฤติกรรมของเขาส่งอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และเขาจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีใดบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในวงจรต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำก็ตาม สุดท้ายแล้วผู้คนจะเห็นว่าเขาสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย เพื่อรักษาอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป
บทสรุป
อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเรากำหนดทางเลือกเองด้วย การส่งเสริมความเข้าใจให้กลุ่มคนปลายน้ำ ได้เห็นถึงบทบาทที่เขามีต่อระบบนิเวศ ทั้งระบบจะช่วยปลุกความรู้สึกรับผิดชอบต่อชีวิตอื่น ๆ ขึ้นมา รวมถึงจะทำให้เขาเชื่อมโยงตนเองกับแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งที่ใหญ่และไกลตัวออกไปเรื่อย ๆ เช่น การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด เป็นต้น
นอกจากนี้ในงานยังมีกิจกรรมของภาคีเครือข่ายทีมาร่วมจัดงาน ที่เปรียบเสมือนการมาร่วมแสดงพลังของประชาชนที่เป็น Active Citizen ที่ต้องการสร้างอนาคตที่มีอากาศสะอาดร่วมกัน