อ้อยไฟไหม้ : วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ใครต้องรับผิดชอบ?
CiCalendar
27 Jan 2025
viewer
1730


กัญญารัตน์โคตรภูเขียว

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

กรรมการสมาคมเครือข่ายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ


จากกรณี นายกรัฐมนตรีแพทองธารสั่งฟ้าผ่าไม่รับซื้ออ้อยเผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยใช้ “กฎหมายอื่น” ปิดโรงงานน้ำตาล กระทบอ้อยไฟไหม้กว่า 2,000 คัน เข้าโรงงานไม่ได้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยเดือดร้อน คำถามสำคัญ คือ มาตรการที่รัฐช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพียงพอ และมาถูกทางแล้วหรือยัง?


จากกรณี โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี บริษัทไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด และ โรงไฟฟ้าชีวมวล ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ถูกสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีสั่งปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 เนื่องจากโรงงานเปิดรับอ้อยไฟไหม้เกินกำหนด 25% เป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยโรงงานมีการรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบสะสมสูงที่สุดถึง 43.11% หรือกว่า 410,000 ตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 41,000 ไร่ [1]


นอกจากนั้น ยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย โดยให้ให้ระงับการใช้หม้อน้ำ ขนาดกำลังผลิต 150 ตันต่อ ชม. ทั้งหมด 4 เครื่อง ลงวันที่ 15 มกราคม 2568 เพื่อโรงงานแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ และหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และรายงานผลการดำเนินการพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมายัง สนง.อุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 มกราคม 2568


ในปีนี้ รัฐบาลมีมาตรการที่เข้มงวดให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้รวมทั้งพืชเกษตรอื่น กระทรวงมหาดไทย กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM2.5 รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดให้กับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง



การตัดอ้อยในปี 2567/2568 กำหนดเกณฑ์ให้ต้องทำอ้อยสดขั้นต่ำ 75% โดยโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง และชาวไร่อ้อยในทุกพื้นที่ต้องร่วมกันทำ เพื่อไม่ถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้เพิ่ม บางพื้นที่อาจมีมาตรการถูกตรวจสอบสิทธิการใช้ที่ดิน ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยังออกมาตรการการหยุดรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ กำหนดเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนนลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนรวมถึงลดการลักลอบเผาอ้อยและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยังมีมติออกมาตรการจูงใจให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ผ่านกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบและยอดอ้อย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 120 บาทต่อตันอ้อย

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาอ้อย มาตรการทางกฎหมายมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรและมาตรการด้านการบริหารจัดการในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยว และการขนส่งอ้อยให้โรงงาน[2] แต่สถานการณ์การเผาอ้อยมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเกษตรชาวไร่อ้อยเผาอ้อย เนื่องจาก


1) อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า การหาแรงงานตัดอ้อยสดจึงหาแรงงานยาก เนื่องจากแรงงาน 1 คน ตัดอ้อยสดได้ 2 ตันต่อวัน คิดเป็นค่าแรง 200 บาทต่อตัน ต้นทุนในการตัดอ้อยสด 400-500 บาทต่อวัน ส่วนการตัดอ้อยไฟไหม้ แรงงาน 1 คน ตัดอ้อยได้ 5 ตันต่อวัน คิดเป็นค่าแรง 120 บาทต่อตัน ต้นทุนในการตัดอ้อยไฟไหม้600 บาทต่อวัน ซึ่งการเผาอ้อยลดต้นทุนการเก็บเกี่ยว 80 บาทต่อตัน และการตัดอ้อยสดต้องใช้เวลาในการสางใบก่อนตัด จึงเกิดความยุ่งยากและเสียเวลา ทำให้ปริมาณที่ตัดได้ต่อวันจะต่ำกว่าการตัดอ้อยไฟไหม้


2) ปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานสูงวัยมีเพิ่มขึ้นทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองที่จะตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีต้นทุนในการไปรับแรงงาน และการดูแลคนงานเพิ่มขึ้น


3) รถตัดอ้อยมีน้อย ราคาสูง และไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ต้นทุนค่าเช่ารถตัดอ้อยราคาสูงและมีจำนวนน้อย ซึ่งระยะปลูกอ้อยในไร่ห่างกันเพียง 1.2 -1.3 เมตรแต่หน้ารถมีหน้ากว้างถึง 1.6-1.7 เมตร จึงไม่เหมาะกับการใช้รถตัดอ้อย


4) ราคาที่ตกต่ำและการถูกกดราคาจากระบบโควตา


5) มาตรการที่รัฐช่วยเหลือเกษตรกรยังไม่เพียงพอ ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการตัดอ้อยสด เกษตรกรจึงเลือกที่จะเผาอ้อยโดยไม่คำนึงถึงมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนส่งผลให้สถานการณ์อ้อยเผาในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


แม้ว่ารัฐได้จัดการโดยการผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นมาตรการภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยค่อยๆ ลดปริมาณการซื้ออ้อยเผา นั้น ไม่ใช่การห้ามซื้ออ้อยเผาอย่างเด็ดขาด ทำให้เกษตรชาวไร่อ้อยยังคงเผาอ้อยอย่างต่อเนื่องและตกเป็นจำเลยสังคม ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่รัฐช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังยังไม่เพียงพอ ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการตัดอ้อยสด มาตรการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 25% ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ออกมา โดยไม่มีมาตรการอื่นๆที่รองรับในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างที่โรงงานรวมถึงการสั่งปิดโรงงานที่ต้องใช้มาตรการจากกฎหมายอื่นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการ เช่น เรื่องใบอนุญาต หรือเรื่องค่ามลพิษที่ปล่องควัน แทนที่จะออกประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเอง เมื่อสั่งปิดแล้วจึงไม่มีมาตรการรองรับอ้อยที่ตกค้างที่โรงงานว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำเกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ[3]



ผู้เขียนขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการปรับอ้อยไฟไหม้ ยิ่งเผาปริมาณมากยิ่งถูกปรับมาก ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ตันที่ 1-100 ตัน ควรถูกปรับตันละ 50 บาทตั้งแต่ตันที่ 101-200 ควรถูกปรับตันละ 100 บาท ตั้งแต่ตันที่ 201-300 ควรถูกปรับตันละ 150 บาท ตั้งแต่ตันที่ 501 เป็นต้นไปถูกปรับ 250 บาท เป็นต้น

ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตอ้อยและน้ำตาลไม่ใช่มีเพียงเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องรับผิดชอบ ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอ้อยเชื่อมโยงตั้งแต่พื้นที่ปลูก เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ผลิตพันธุ์อ้อย ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า หรือ สารเคมีอื่น หรือพ่อค้าคนกลาง หรือบริษัทผู้รับซื้ออ้อย ตลอดจนผู้ประกอบการโรงงานที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติที่ได้ออกหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP)เมื่อ ค.ศ. 2011 โดยตระหนักว่าการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆได้ ดังนั้น รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง (protect) สิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบในการเคารพ (respect) สิทธิมนุษยชนและทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดให้มีมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ



ดังนั้น ผู้ประกอบการการโรงงานน้ำตาลก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เพราะมีนิติสัมพันธ์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาอ้อย (contract farming) และระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ (benefit sharing) 70:30 ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องไม่รับซื้ออ้อยเผา โดยกำหนดในสัญญาว่าไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่กระบวนการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ หากรับซื้อถือว่ามีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย(Polluter Pay Principle : PPP)เช่นกันนอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลควรมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย เช่น ส่งเสริมเกษตรกรตัดอ้อยสด สนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร


ทั้งนี้ ภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตัดอ้อยสด เพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสด คุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร



การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงอย่างทั่วถึงในราคาที่ไม่สูงมากผ่านเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) การส่งเสริมธุรกิจเช่าเครื่องจักรกลทางการเกษตร การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร

นอกจากนั้น รวมถึงการให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบอ้อยและยอดอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และส่งเสริมธุรกิจการรับซื้อใบอ้อยหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตลอดจนพัฒนาระบบโลจิสติกส์จากแปลงเกษตรกรถึงผู้รับซื้อเศษวัสดุเหลือทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับเกษตรกรและภาคเอกชนผู้รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืน[4] [5]


อ้างอิง

[1]Thai PBS, เบื้องหลังลงดาบ “ปิดโรงงานหีบอ้อย” รับซื้ออ้อยเผาเกินลิมิต [ออนไลน์], มกราคม 2568. แหล่งที่มา https://www.thaipbs.or.th/news/content/348252

[2] สำนักเศรษฐกิจการเกษตร, สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2562 [ออนไลน์], เมษายน 2562. แหล่งที่มา http://www.oae.go.th/view/1/รายละเอียดสถานการณ์การผลิตและการตลาด/รายละเอียดสถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ปี%202562/31521/TH-TH [9

[3] เดลินิวส์, ไม่รอช้า! ‘ณัฐวุฒิ’ นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา ลุยช่วยเหลือชาวไร่อ้อยสุพรรณฯ [ออนไลน์], มกราคม 2568. แหล่งที่มา https://www.dailynews.co.th/news/4298783/

[4] วิษณุ อรรถวานิช, พัชรี สุริยะ, นภสม สินเพิ่มสุขสกุล, ธนพล ไชยแสน, สันติ แสงเลิศไสว, สมหมาย อุดมวิทิต, ศิวพร พิพิธภักดี และพิชลัณดาห์ สนธิวิฬุรห์. (2565). การประเมินมูลค่าผลประโยชน์สุทธิจากการลดการเผาอ้อยโรงงานและออกแบบมาตรการเชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน. ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN: 978-616-278-726-3

[5] วิษณุ อรรถวานิช, SDG Insights | ชำแหละนโยบายแก้ฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตร : อะไรคือต้นเหตุของความไม่ยั่งยืน [ออนไลน์], พฤษภาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.sdgmove.com/2023/05/17/sdg-insights-policy-pm2-5-agriculture/


Share
sharefbxx