3 ข้อดีที่จับต้องได้ หากเรามีกองทุนอากาศสะอาดเกิดขึ้นจริง
CiCalendar
22 Mar 2024
viewer
330

มัดรวมประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อถ้าประเทศไทยเราจะมีกองทุนอากาศสะอาดฯ ไว้สู้ปัญหาฝุ่นกันในอนาคต


1.ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม

”ใครสร้างมลพิษในอากาศ คนนั้นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ใครไม่ได้สร้างก็ไม่ต้องจ่ายเข้าใจตรงกันนะ”

นี่คือหลักการพื้นฐานของกองทุนอากาศสะอาดฯ ที่ได้ถูกนำเสนอไปในร่าง พรบ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน มีการระบุชัดเจนว่า ผู้ก่อมลพิษทางอากาศ หรือผู้ที่ทำให้อากาศสกปรกจนเป็นภัยต่อสุขภาพของคนอื่นหรือต่อสภาพแวดล้อม ควรจะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมสากล เช่น ถ้าผลิตสินค้าบ่อนทำลายสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมก็ต้องจ่ายเงิน top up ภาษีสรรพสามิต (มากน้อยตามความร้ายแรง) หรือถ้าทำโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำบัดอากาศ อย่างนี้เป็นต้น


แนวคิดนี้ถือว่าตรงข้ามกับหลักการของกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะรายรับของกองทุนสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นเงินที่เหมารวมมาจากภาษีของประชาชนทุกคน ซึ่งถือว่า ไม่ยุติธรรม”ตามหลักการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของนานาชาติ




2.คนไทยจะมีเงิน ‘มากพอ’ และ ‘ต่อเนื่อง’ สำหรับใช้สู้ฝุ่น ‘โดยตรง’

ดร. ธีระวุฒิ​ เต็มสิริวัฒนกุล หนึ่งในทีมเครือข่ายอากาศสะอาด เคยให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนว่าเงินในกองทุนอากาศสะอาดฯ ควรมีใช้กันราว 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีไว้เพื่อสู้กับปัญหาฝุ่นพิษในอากาศเท่านั้น เป็นเงินที่ไม่ต้องแชร์ให้การเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นใด นอกจากนี้คือสามารถ นำเงินมาใช้ได้ทันท่วงทีทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพราะกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพนี้ ไม่ได้พึ่งพางบประมาณรัฐที่มีข้อจำกัดและขั้นตอนวุ่นวายในการเบิกจ่าย (ทุกวันนี้กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ได้รับงบราชการปีหนึ่งราว 500-800 ล้านบาท ซึ่งต้องแบ่งใช้ในการแก้ปัญหาน้ำ ขยะ อากาศ ดิน ฯลฯ (แล้วมันจะไปพอได้ไง)


และที่สำคัญที่สุดคือกองทุนอากาศสะอาดฯ จะเป็นถุงเงินเพื่อการสู้ฝุ่นที่มีความยั่งยืนไม่โซซัดโซเซจากการเปลี่ยนขั้วการเมือง เพราะต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลกี่สมัยกองทุนฯ ก็เป็นอิสระจากภาครัฐและเดินหน้าได้ด้วยตัวเอง



3.คนที่ช่วยสังคม ‘ลดมลพิษ’ จะได้รับเงินคืนเข้ากระเป๋าทันที

สำหรับคนที่มีความตั้งใจจริงในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กองทุนอากาศสะอาดฯ มีมาตรการหลายรูปแบบที่จะตอบแทนท่านเป็นตัวเงิน เช่น มาตรการ ‘ฝากไว้-ได้คืน’ (Deposit & Refund) ที่จะให้เงินคืนแก่ทุกคนที่ช่วยสังคมจัดการขยะอย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น การนำขวดพลาสติกหรือกระป๋องเครื่องดื่มมาส่งคืนที่ตู้รับบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ และรอรับเงินรางวัลจากตู้ได้ทันทีหรือ มาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาต่ำลงสำหรับคนทั่วไป อย่างนี้เป็นต้น






เราเชื่อว่าหลายคนคงยังไม่หมดหวังที่จะได้เห็นเมืองไทยกลับมามีอากาศบริสุทธิ์อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าความฝันที่จะกู้วิกฤตอากาศพิษนี้ต้องอาศัยทั้งพลังและความเข้าใจที่ถ่องแท้จากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากประชาชนคนไทยที่ต้องพยายามเข้าใจภาพปัญหาอันซับซ้อนนี้ด้วยทัศนคติเปิดกว้าง เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ win-win ที่สุดสำหรับคนทุกกลุ่มในบ้านเมืองอย่างแท้จริง

อย่าเพิ่งหมดหวังกับประเทศไทยนะทุกคน


อ้างอิง

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับกองทุนอากาศสะอาด โดย ดร. ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล








Share
sharefbxx