บทความนี้จั่วหัวด้วยคำถามที่หลายคนอดสงสัยไม่ได้ “ทำไมทุนใหญ่ถึงต่อต้านการออกกฎหมายอากาศสะอาดเหลือเกิน ในเมื่อแก่นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกคน แถมยังจะยกระดับภาพลักษณ์และความน่าสนใจของประเทศไทยในเวทีการค้านานาชาติด้วย
รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ วีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สองสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ร่วมสนทนาไขคำตอบกับเราถึงประเด็นความน่าสงสัยข้างต้นที่มีเงื่อนปมมากมาย ทั้งจากผลประโยชน์ระยะสั้น VS วิสัยทัศน์ระยะยาว กลไกการผลักภาระ VS ผลลัพธ์ต่อผู้บริโภคฯลฯ
ดร.วิษณุ: โดยหลักการแล้วมีความจริงและไม่จริงอยู่อย่างละครึ่งครับ เพราะธุรกิจบ้านเรามีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือพวกทุนเก่าที่ไม่ยอมปรับตัว กับสองคือธุรกิจใหม่ที่เขาผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ฉะนั้น พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจบางกลุ่ม เช่น ธุรกิจที่ไม่มีการเผาอยู่แล้ว หรือธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์ สามารถเติบโตต่อได้
ส่วนพวกที่เสียประโยชน์ก็คือกลุ่มธุรกิจที่ไม่ยอมปรับตัว ยังจะผลิตแบบเดิม ๆ ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งถ้าพูดตรง ๆ ก็คือธุรกิจกลุ่มนี้แหละที่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะสุดท้ายอากาศที่ไม่ดีคือตัวฉุดรั้งการเติบโตของคนใน Sector อื่น ๆ ทั้งหมด
สรุปก็คือถ้าประเทศเราออกกฎหมายนี้ ก็จะมีกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มธุรกิจที่เสียประโยชน์ครับ แต่จากสถิติและการเก็บข้อมูลของประเทศอื่นที่เขามีกฎหมายนี้มาก่อนเรา เขาพบว่าเศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตดี มีได้มากกว่าเสีย และเป็นการช่วยยกระดับความสามารถของธุรกิจน้ำดีให้แข่งขันได้ในระยะยาวด้วย
ดร.วิษณุ: เรื่องนี้เราต้องมองในสองมุมครับ มุมหนึ่งคือถ้าผู้บริโภคคนนั้นเลือกบริโภคสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ก็สมควรแล้วที่เขาจะต้องรับภาระส่วนหนึ่งโดยการซื้อของนั้นในราคาแพงขึ้น เพราะผู้ผลิตที่เขาเลือกจะถูกเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ จึงเป็นไปได้สูงที่เขาจะต้องขายสินค้าให้คุณในราคาที่แพงขึ้น แต่ถ้ามองในอีกมุม มันก็คือการสร้างโอกาสให้ธุรกิจที่ใช้การผลิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคย่อมหันมาเลือกสินค้าที่กรีนขึ้น หากราคามันใกล้เคียงกัน สิ่งนี้จะช่วยให้ Green Economy ของประเทศเราเติบโตได้เสียที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎหมายอากาศสะอาดก็มีมาตรการช่วยเหลือให้ธุรกิจแบบเก่าเข้าสู่กระบวนการปรับตัวด้วย เราจะมีเงินช่วยเหลือบางส่วนให้สำหรับคนที่ต้องการยกระดับการผลิต ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบชั่วคราว เพื่อให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง พูดง่าย ๆ คือกองทุนจะช่วยคุณก่อน แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยน ต่อไปคุณจะถูกปรับ
วีณาริน: ขอเสริมในประเด็นเรื่องการผลักภาระให้ประชาชนนะคะ ในทางการเงินถ้าเราตั้งสมมติฐานว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ จะมีการบวกกำไร (Margin) ในระดับที่พอ ๆ กัน ในอนาคตมันจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าราคาสินค้าจากธุรกิจที่ไม่ปรับตัวก็จะแพง เพราะค่าใช้จ่ายในการผลิตเขาสูงขึ้นจากการเสียภาษีเข้ากองทุน ในขณะที่ราคาสินค้าจากธุรกิจที่ปรับตัวแล้วกลับจะถูกลง ต่อไปเราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาที่เข้าถึงง่าย ไม่แพงกระเป๋าฉีกเหมือนปัจจุบัน ซึ่งก็เข้าทางผู้บริโภคอย่างเราถูกมั้ยคะ นี่คือกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่มันควรจะเป็น
วีณาริน: ประเทศจีนคือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดค่ะ แต่พอเราพูดถึงประเทศนี้คนไทยมักจะมองบนคือเรามีอคติว่าประเทศเขาใหญ่แบบจะทำอะไรก็ได้ อันที่จริงคือรัฐบาลจีนเขาจริงจังกับเรื่องมลพิษทางอากาศมานานกว่าสิบปีแล้ว จากอดีตที่เขาละเลยสิ่งแวดล้อมมานาน เน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น วันหนึ่งมันก็มาถึงจุดที่รัฐบาลเขาเจอแรงกดดันหนัก เขารู้แล้วว่ามันไปต่อแบบนี้ไม่ได้แน่ ถ้าหากเขายังทำไม่รู้ไม่ชี้ ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศอาจจะพังครืน สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนคือภาคอุตสาหกรรมเขามีการสร้างฐานข้อมูลขึ้นใหม่ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ โดยให้ภาคประชาชนช่วยเป็น Micro Reporter สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนจะคอยตรวจสอบระดับมลพิษที่ปล่อยจากโรงงานในพื้นที่ผ่านแอพชื่อ Blue Map App และช่วยกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขผ่าน Social Media คือถ้าโรงงานไหนปล่อยมลพิษเกิน หรือเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนปล่อยเกียร์ว่าง ก็จะโดนประจานทันที ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือโรงงานอุตสาหกรรมในจีนก็ต้องทยอยปรับระบบการผลิตของตนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี โรงงานที่ปรับตัวแล้วก็กิจการดีขึ้นเรื่อย ๆ เขายังกลับมาขอบคุณด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้เขาอยู่รอดมาได้ในสนามการค้าโลกวันนี้ ในขณะที่โรงงานที่ไม่ยอมปรับก็ล้มหายตายจากไป เพราะการผลิตของเขาไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกสากล ลูกค้าก็จำเป็นต้องเลิกซื้อไปโดยปริยาย ซึ่งถ้าวันนี้ธุรกิจไทยออกมาโวยว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะทำให้ธุรกิจถดถอย ทำไมเศรษฐกิจจีนเขาโตได้ล่ะ เขาทำมาสิบกว่าปีแล้วนะ สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน สหราชอาณาจักรก็เช่นกัน ถ้ากฎหมายนี้ทำลายภาคธุรกิจจริง ทำไมเขาไม่เจ๊งกันไปหมดแล้ว ถูกไหมคะ
ดร.วิษณุ: ผมขอเสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไปพูดคุยกับกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยนะครับ ผมมองเรื่องการปรับตัวของธุรกิจไทยตอนนี้ว่ามีอยู่ 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก
คือพวกที่ Alert มาก ปรับตัวตลอดเวลา กลุ่มนี้เน้นทำตลาดส่งออกอยู่แล้ว
กลุ่มที่สอง
คือมีความตื่นรู้แล้วและกำลังปรับตัว
กลุ่มที่สาม
คือพวกที่ไม่ยอมปรับอะไรเลย กลุ่มนี้จะมองแค่ตลาดในประเทศ เขาจะไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมใด ๆ เพราะถึงเขาจะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เผา ที่ก่อมลพิษ ก็ไม่ได้มีใครมาปรับหรือลงโทษเขาได้คำถามคือเราจะปล่อยให้เขาดำเนินธุรกิจต่อไปแบบนี้งั้นหรือ เราควรต้องจัดการอะไรสักอย่างไหม ซึ่งถ้าเขาเป็นธุรกิจรายเล็กเราก็ควรยื่นมือเข้าช่วยก่อนตอนต้น ตามหลักความยุติธรรมคือไซส์เล็ก เราช่วยเยอะหน่อย ไซส์ใหญ่เราช่วยน้อยหน่อย เพื่อลดแรงกดดันให้ทุกคนเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยกัน
แต่ถ้ายังมีคนดื้อยังไม่ยอมปรับปรุงตัวเลย กฎหมายก็ต้องลงดาบ ผมพูดอย่างนี้ภายใต้ข้อสมมติที่ว่า นี่คือการโอนย้ายผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มธุรกิจด้วยกัน เช่น ถ้าการลดการเผาได้เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจท่องเที่ยว เราควรจะโยกภาษีจากกลุ่มนี้มาช่วยกลุ่มรถบรรทุกที่เขาต้องปรับตัวเยอะ เพื่อว่าสุดท้ายสังคมในภาพรวมจะเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องคิดอย่างมีจิตเมตตาครับ แน่นอนว่าในทุกการเปลี่ยนผ่าน มันจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นคนที่ได้ก็ควรช่วยเหลือคนที่เสียสักหน่อย เพื่อลดแรงเสียดทานครับ
คำถามสำคัญคือ สังคมไทยได้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่เราจ่ายไปไหม เช่น ถ้าคนไทยป่วยน้อยลง มาทำงานได้เต็มเวลามากขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ธุรกิจก็ได้ประโยชน์นะครับ ถ้าเราไม่ได้มองแต่ตัวเลขรายจ่ายในบัญชีแล้วมองในมุมของประสิทธิภาพระยะยาวบ้าง ในมุมของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพบ้าง นี่คือมูลค่าที่จะเกิดขึ้นมหาศาลกับเศรษฐกิจไทย คุณลองไปอ่านข้อเขียนเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของ
US Environmental Protection Agency ดูได้ สหรัฐอเมริกาเขาระบุเลยครับว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมจะต้องมีข้อมูลหลักฐานมายืนยันว่ากฎหมายนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้คนมากกว่าต้นทุนที่สังคมต้องจ่าย และเมื่อใดที่ต้นทุนมันสูงกว่าผลประโยชน์ที่สังคมได้ เมื่อนั้นกฎหมายอากาศสะอาดก็หมดสิทธิ์ไปต่อครับ
อ้างอิง: การสัมภาษณ์ออนไลน์ รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช และ วีณาริน ลุลิตานนท์