การรวมตัวของกลุ่มคนจิตอาสาทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ และกลุ่มภาคประชาชน ที่ไม่ยอมทนและอยู่นิ่งเฉยกับปัญหาใช้ความรู้ความสามารถในสาขาของตนเองศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อทาความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศเหล่านี้ และหาสาเหตุต้นตอในเรื่องนี้ซึ่งกลุ่มสมาชิกกว่าหลายร้อยคนที่เข้ามาทางานทั้งด้านวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ร่วมกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อหาทางออกที่จะจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย
สถานการณ์ความรุนแรงของ “ฝุ่นPM2.5” ที่สร้างวิกฤติให้กับประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานคร และ หลายพื้นที่ในประเทศไทย ปัญหานี้ได้ถูกยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในวงกว้างถึงอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของตัวเอง และคนรอบข้าง จากวิกฤติสภาวะทางอากาศในครั้งนั้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนจากภาคประชาชนและนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ เข้ามารวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจในปัญหา และสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อวางแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่มีความซับซ้อนยุ่งยากแบบรอบด้านและเป็นระบบอย่างยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงอันตรายของ “ฝุ่นPM2.5” และร่วมกันป้องกันตัวเองและดูแลคุณภาพอากาศในพื้นที่ของตนเองได้
มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุให้ผู้คนที่อาศัยในเขตเมือง และ ชนบทเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 7 ล้านคนทั่วโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผจญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ฝุ่นPM2.5” ที่ทวีความรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแบบค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย กว่าจะรู้ตัวร่างกายก็เกินจะเยียวยาทัน “ฝุ่นPM2.5” หรือ “ฝุ่นจิ๋ว” ที่เราได้ยินกันจนชินหู แต่อันตรายของมันไม่จิ๋วตามชื่อ เพราะความจิ๋วที่สามารถผ่านเข้าทางเดินหายใจได้อย่างง่ายดาย โดยที่ร่างกายของเราไม่สามารถกักและดักจับไว้ได้ ทำให้เข้าไปสะสมในปอดและแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดสารพิษที่อยู่ใน “ฝุ่นพิษPM2.5” หรือ “ฝุ่นจิ๋ว” จะกระจายในกระแสเลือดส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ผลจากงานวิจัยล่าสุดพบว่าผู้ทีสูดหายใจ “ฝุ่นPM2.5” เข้าร่างกายในระดับสูงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับ โรคไต โรครูห์มาติก โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบาหวานอีกด้วย
ทั้งนี้ผลกระทบทางสุขภาพมีความเสี่ยงสูงกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ด้วยความสูงของเด็กที่อยู่ในระดับที่จมูกหายใจได้ใกล้พื้นที่ระดับอากาศไม่ถ่ายเทมากนักและในระดับที่มีการสะสมของสารพิษตกค้างในอากาศสูง ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับสารพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ด้วยการเจริญเติบโตของร่างกายที่ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ทำให้ไม่สามารถป้องกันร่างกายได้เต็มประสิทธิภาพ
ปัญหามลพิษทางอากาศในภาพรวมที่เห็นได้อย่างชัดเจน มีแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันและความเข้มข้นก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน แหล่งกำเนิดที่สำคัญ ได้แก่ การเผาในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นการเผาเพื่อการเกษตร การเผาป่า และการเผาขยะ, การประกอบอุตสาหกรรม, การเผาไหม้จากเครื่องยนต์, และจากหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาเหล่านี้ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ปัญหาจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาเหล่านี้ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ปัญหาจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีประชาชนที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ.2561 และประชากรไทยทั้งประเทศ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงในระดับที่เป็นอันตรายส่งผลต่อสุขภาพ ด้วย “เกณฑ์มาตราฐานคุณภาพอากาศ” ที่ประเทศไทยกำหนดไว้มีตัวเลขที่สูงกว่าระดับความปลอดภัยขององค์กรอนามัยโลกที่กำหนดไว้ถึงสองเท่า เป็นเหตุให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังมีข้อมูลการรายงานสถานการณ์ฝุ่นพิษทางอากาศที่กระจัดกระจายไม่ครบถ้วน ไม่มีมาตราฐานการวัดดัชนีฝุ่นพิษทางอากาศที่ชัดเจน ส่งผลการแก้ปัญหาที่ในระดับส่วนท้องถิ่น และ ส่วนภูมิภาค ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในระดับประเทศ
ปัญหามลพิษทางอากาศในทุกวันนี้ อยู่ในขั้นวิกฤติในระดับอันตรายที่ต้องจัดการอย่างบูรณาการต่อเนื่อง เพื่อให้เราและลูกหลานของเราทุกคนในอนาคตได้มีอากาศสะอาดได้หายใจในทุกที่ทุกเวลาไม่ใช่การหายใจโดยผ่านเครื่องฟอกอากาศ หรือ หายใจภายใต้หน้ากากอนามัย อีกต่อไป