จากที่สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 7 กันยายนเป็น ‘วันอากาศสะอาดสากล’ (International Day of Clean Air) เพื่อส่งเสริมให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของอากาศบริสุทธิ์ต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเมื่อวันที่ 7 กันยา 2566 ที่ผ่านมา เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย จับมือกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด" โดยมีวิทยากรและผู้มีส่วนร่วมจากหลายวงการเข้าร่วมถกประเด็นว่าด้วยผลกระทบของมลพิษอากาศในด้านต่าง ๆ รวมถึงแนวทางแก้ไขจากฝั่งการเมืองและความมั่นคงที่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาในวันนี้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน เราได้เห็นตัวเลขที่น่ากังวลจาก WHO (องค์การอนามัยโลก) ที่เผยว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึงกว่า 7 ล้านคน ขณะที่ราว 90% ของคนทั่วโลกก็กำลังสูดอากาศที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐาน สอดคล้องกับรายงานของกรีนพีซ อินเดีย เมื่อปีกลาย (เรื่อง ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ) ที่ระบุว่ามลพิษทางอากาศถือเป็น ‘ปัญหาสุขภาพสากล’ ที่ส่งผลต่อทุกคนบนโลก และทุกวันนี้พวกเรายังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศ และเผชิญความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่มีผลรุนแรงต่อสุขภาวะ โดยเฉพาะกับประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต่าง ๆ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Special Rapporteur) สะท้อนเรื่องสิทธิในอากาศสะอาดบนเวทีเสวนานี้ว่า "ปัจจุบันคนไทยยังขาด ‘สิทธิ์พื้นฐาน’ ในการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อภาครัฐ เช่น สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลการรายงานเรื่องมลพิษ สิทธิ์การมีส่วนร่วม หรือแม้แต่สิทธิ์การเยียวยา"
พร้อมกับเสนอแนะว่าการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘แผนป้องกันและรับมือ’ มากกว่า ‘แผนแก้ไข’ และรัฐบาลต้องระบุให้ได้ว่าแหล่งกำเนินฝุ่นจริง ๆ มีต้นตอจากไหน ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการเกษตร PM2.5 มาจากการเผาเป็นหลัก โดยเฉพาะการเผาอ้อยซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลต้องตั้งคำถามว่าภายใต้วงจรเศรษฐกิจนี้ พวกโรงงานหรือตลาดรับซื้อปลายทางควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ? เพราะที่ผ่านมาเราผลักภาระการแก้ปัญหาไปยังประชาชนฝ่ายเดียว นอกจากนี้รัฐบาลควรมีขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ร่วมกับภาคประชาชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์จริงต่อทุกฝ่าย
“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาฝุ่นของภาครัฐเป็นการออกคำสั่งห้ามเผาและการให้เงินเยียวยา ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน วงจรการเกิดฝุ่นพิษเป็นระบบลูกโซ่ที่ซับซ้อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีทั้งประชาชนและกลุ่มธุรกิจที่ควรแชร์ความรับผิดชอบกัน”
ในฐานะนักกฎหมายและนักพัฒนา ศจ.วิทิต มองว่ากฎหมายยังมีความจำเป็น แม้ทุกวันนี้ประเทศไทยจะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ แต่หลายฉบับก็ยังต้องแก้ไข และหลายฉบับก็ยังค้างคาอยู่ หากรัฐบาลต้องการเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานด้านนี้ก็ต้องเพิ่มหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและต้องมีคนที่เป็นเจ้าภาพตัวจริง ก่อน
จะสรุปว่าหากรัฐบาลนำประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนตามกรอบของสหประชาชาติมาพิจารณาด้วย ก็จะมี 3 องค์ประกอบที่ต้องเร่งทำ หนึ่งคือเรื่องกฎหมาย ที่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการ การเข้าถึงข้อมูล การมีพื้นที่ร่วมกัน และการเยียวยาต่าง ๆ สองคือสิทธิเรื่องสารบัญญัติ ที่จะทำอย่างไรให้มีการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และสามคือเรื่องการดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่ควรต้องเป็นเรื่องการฟ้องร้องในชั้นศาลเพียงอย่างเดียว
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า ทุกวันนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความแปรปรวนของอากาศ ถือเป็นปัญหาระดับความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะแต่ละประเทศล้วนมีค่าใช้จ่ายที่รัฐต้อง
เยียวยาแก้ไข ที่น่าห่วงคือปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ผลกระทบได้ยาก แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีดาวเทียมที่ตรวจสอบได้ว่าจะเกิดพายุในช่วงใด แต่เรายังคาดการณ์ระดับความรุนแรงของผลกระทบไม่ได้ ดังจะเห็นว่าภัยพิบัติ
ที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ของโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และสิ่งที่ตามมาก็เกินความคาดหมายอยู่เสมอ หลายคนถามว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 บางคนอาจจะตอบสงครามยูเครน แต่ที่จริงสหประชาชาติกังวลที่สุดเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ เพราะถ้าระบบนิเวศเราล่มสลาย มนุษย์จะอยู่อย่างไรนี่คือโจทย์ด้านความมั่นคงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษนี้
“ในที่ประชุมปี 2565 สหประชาชาติเสนอประเด็นใหม่เรื่อง Climate Security หรือความมั่นคงทางอากาศแปลว่าในภาพใหญ่ของโลกตอนนี้ เขายอมรับแล้วว่าความแปรปรวนทางอากาศมีผลใหญ่หลวงต่อชีวิตและความมั่นคง”
ด้าน รศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์
ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล มองประเด็นสำคัญว่าการเมืองและสังคมไทยต้องผลักดันเรื่องสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาด น้ำดื่มสะอาด อาหารไม่ปนเปื้อน รวมถึงเรื่องออฟฟิศซินโดรมที่สัมพันธ์กับคุณภาพอากาศในอาคาร และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 แต่พอถึงช่วงที่ฝุ่นบางลง รัฐบาลก็เก็บเรื่องไว้ในลิ้นชักอีก “พอฝุ่นมาทีรัฐก็ประกาศว่ากำลังแก้ปัญหาอยู่ ขอให้ทุกฝ่ายประทังปัญหาไปก่อน วันนี้คนไทยไม่อยากได้ยินการแก้ตัวซ้ำ ๆ อย่างนี้แล้ว”
“เหมือนว่าปัญหาที่เกี่ยวกับคนจนมันแก้ยากเหลือเกินในประเทศนี้ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องแก้คือการเมืองและความเหลื่อมล้ำ”
รศ.นพ. นิธิพัฒน์ ได้ฝาก 4 ข้อคิดที่น่านำไปคิดต่อกันอย่างยิ่ง นั่นคือ
1.สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมของทั้งคนจนคนรวย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่แบ่งชนชั้นได้
2.การแก้ไขต้องอาศัยการจัดการเชิงระบบที่ต่อเนื่อง บนพื้นฐานความจริงใจและความมุ่งมั่น โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่รวยกว่า
3.อย่ามองปัญหาสิ่งแวดล้อมแยกจากปัญหาสังคมและปัญหาเศรษฐกิจอื่น ทุกวันนี้กลุ่มงานเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงการฟอกอากาศ นี่คือโจทย์ความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทุกด้านในระยะยาว
4.การที่คนออกมาเรียกร้องอากาศสะอาดวันนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองแล้ว แต่ทำเพื่อลูกหลานและอนาคตของชาติเรา
อ้างอิงข้อมูล
Greenpeace : https://www.greenpeace.org/thailand/press/24583/climate-airpollution-inequity-report-thai-pr/