หลังจากเทศกาลแห่งความสุขของการเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่ที่ผ่านไปได้ไม่นาน ก็มักจะเกิดปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5
ที่เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัดของประเทศไทยให้ได้กลุ้มใจกันอยู่เสมอ เป็นแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายปี กลายเป็น
อีกหนึ่งปัญหาหลักที่เราต้องเผชิญจนต้องยอมรับความจริงว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 นี้จะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อปรากฏการณ์ลานีญาได้สิ้นสุดลง และปรากฏการ์ณเอลนีโญได้ก้าวเข้ามาแทนที่ พร้อมกับความแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย และไฟป่า ที่จะทำให้คนไทยต้องเผชิญภัยฝุ่นอย่างหนักที่สุดในรอบหลายปี
ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล่าสุดชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนปลายปีนี้และต้นปีหน้าน้อยลงกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 กลับมาเพิ่มขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูหนาว โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากมาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหายังเหมือนปีที่แล้ว ประชาชนไทยจะต้องเจอกับปัญหาฝุ่นอย่างสาหัสในปี 2567
ทุกวันนี้เราพอจะทราบกันว่าภัยฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจาก
การเผาไหม้เชื้อเพลิงยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างประเภทต่างๆ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าฝุ่นพิษ
พุ่งเกินค่ามาตรฐานถึงระดับร้ายแรง ในทุกช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี ก็คือการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตร เช่น
การทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไร่อ้อย และข้าวนาปรัง ที่เกษตรกรมักจะเริ่มเผาพื้นที่ในช่วงฤดูแล้งก่อนเริ่มต้นเพาะปลูกใหม่ รวมถึงการเกิดไฟป่าจากฝีมือมนุษย์ในบริเวณใกล้เคียง
โดยทุกวันนี้อัตราการเผาในที่โล่งพุ่งสูงถึง 32.79% ซึ่งสูงกว่าที่มติคณะรัฐมนตรีเคยกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 5%
โดยสาเหตุใหญ่นั้นมาจากการออกประกาศห้ามเผาของภาครัฐซึ่งถือว่าผิดต่อหลักทางเศรษฐศาสตร์ เพราะการออกประกาศห้ามนี้หากไม่ได้มาพร้อมแนวทางช่วยเหลืออื่น ก็เท่ากับการผลักให้ประชาชนรีบเผาเพิ่มขึ้นก่อนถึงฤดูกาล ‘ห้าม’ นั่นเอง นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากการเผาพืชทางการเกษตรก็ทวีความรุนแรงขึ้น โดยในปีนี้ถือว่า
มีสถิติสูงสุดและรุนแรงมากที่สุดในรอบ 9 ปี
เราต่างเห็นว่าสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละภาคของไทยเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม สำหรับใน ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ฝุ่นจะหนักที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง
ลมอ่อน และมีปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำที่ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง โดยส่วนใหญ่เป็นฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม
การเผาไหม้เชื้อเพลิงยานพาหนะ และการเผาในภาคเกษตร รวมถึงมีฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศกัมพูชามาสมทบ สำหรับภาคอีสาน จะเจอกับฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม หลักๆ จากภาคเกษตรที่เผานาข้าว
ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด รวมถึงได้รับฝุ่นข้ามพรมแดนบางส่วนจากประเทศลาวและเวียดนาม
ส่วนภาคเหนือมีอาการหนักที่สุด จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยาวนานตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน
ด้วยสาเหตุหลักจากการเผาในภาคเกษตรและการเผาไหม้ในพื้นที่ป่า รวมทั้งยังมีฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศ
เมียนมา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ปัญหาหมอกควันอยู่ในระดับวิกฤตต่อเนื่องมาหลายปี งานวิจัยหลายสำนัก
ระบุว่ามีต้นเหตุสำคัญจาก 3 ส่วน หนึ่ง คือสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง สอง คือปัจจัยด้านอุตุวิทยา ที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่รอบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (ที่จะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นพิษเลวร้ายขึ้นจากความร้อนแล้ง) และสาม คือเรื่องการเผาไหม้ในที่โล่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ
สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อมูลสถิติย้อนหลังของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่ระบุค่าเฉลี่ย PM2.5 ช่วงเดือนเมษายน 2566 ว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี ขณะที่จุดความร้อนที่นับได้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นมากสุดในรอบ 3 ปี (จากการเผานาไร่และไฟป่า) เป็นที่น่ากังวลว่าทุกปัจจัยที่เกื้อหนุนฝุ่นพิษในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เรายังไม่มีแนวทางแก้ไขใดที่พอเป็นความหวังได้จริง
คำถามคือแล้วคนไทยจะตั้งรับกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่บ่อนทำลายทั้งสุขภาวะและเศรษฐกิจนี้กันอย่างไร ในเมื่อที่ผ่านๆ มารัฐบาลไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และมาตรการที่มีก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
เครดิตข้อมูล