ในการรับรู้ของสังคมวันนี้ เรามาถึงจุดที่ไม่ต้องถกเถียงกันแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 มีผลร้ายต่อสุขภาพหรือไม่ เพราะแม้แต่คนหนุ่มสาวร่างกายฟิตปั๋งก็ยังสัมผัสได้ถึงความไม่ปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก แสบตา หายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัวเมื่อต้องหายใจเอาฝุ่นเข้าปอดเป็นเวลานาน ยิ่งกับกลุ่มประชากรที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงหอบหืดและโรคทางเดินหายใจทั้งหลาย กลุ่มเหล่านี้ยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลร้ายจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าคนอื่นหลายเท่า และจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่ามลพิษในอากาศสูง หรือมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานอย่างจริงจัง
ปัจจัยทางร่างกาย – แบ่งได้เป็น 2 ส่วน หนึ่งคือความเปราะบางของร่างกายที่ต่างกันตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก รวมถึงสตรีมีครรภ์ที่ร่างกายก็จะมีความอ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบจากฝุ่นมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ส่วนที่สองคือโรคประจำตัว ที่จะถูกกระตุ้นให้อาการกำเริบหรือรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของ PM2.5 เช่น เด็กเล็กที่เป็นโรคหอบหรือภูมิแพ้จะได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อนในห้องเดียวกัน
ปัจจัยทางสังคม– ผลกระทบด้านสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากความต่างด้านวิถีชีวิตและอาชีพ เช่นบางอาชีพจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา เช่น ตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน พนักงานขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่ในอีกมิติทางสังคมก็เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง (access) สิ่งที่ช่วยปกป้องตนเองจาก PM2.5 ทั้งในมุมของการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นมิตร ทั้งหน้ากากกรองฝุ่นและเครื่องฟอกอากาศ การเข้าถึงห้องปลอดฝุ่นที่มีคุณภาพและอยู่ใกล้ และในมุมของการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ช่วยให้เข้าใจปัญหาและแนวทางการดูแลตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางต่อปัญหามลพิษทางอากาศ และที่สำคัญคือการเข้าถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษและคำแนะนำที่ทันท่วงที ที่จะช่วยให้สามารถปกป้องกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น
กลุ่มคนที่เสี่ยงสูงที่สุดคือคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจ โดยที่โรคที่ไม่รุนแรงอย่างโรคภูมิแพ้และไซนัส อาการอาจกำเริบได้หากต้องเผชิญกับ PM2.5 ซึ่งโรคภูมิแพ้จมูกนี้เป็นอาการเรื้อรังที่สามารถส่งผลกระทบไปยังหูชั้นกลางและช่องจมูกที่มีท่ออากาศเชื่อมต่อกัน เมื่อท่อเกิดการอุดตัน อากาศที่ถูกกักไว้ภายในจะทำให้รู้สึกปวดหู หูอื้อ และอาจมีมูกขังภายใน จนเกิดการติดเชื้อและเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีหนองไหลออกจากหูเนื่องจากมีเยื่อแก้วหูทะลุ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคที่รุนแรง เช่น โรงหลอดเลือดหัวใจและสมอง อาจมีอาการกำเริบรุนแรงจนถึงกับเสียชีวิตเฉียบพลันได้
ส่วนในสตรีมีครรภ์ นอกจากผลกระทบโดยตรงที่มีต่อสตรีที่ตั้งครรภ์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในหลายด้าน รวมถึงประสิทธิภาพของระบบการหายใจที่ลดลง งานวิจัยยังพบผลกระทบต่อทารกในครรภ์คือ พบว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้เด็กในครรภ์เติบโตช้า (Intrauterine Growth Retardation: IUGR) หรือคลอดก่อนกำหนด (Premature Labor) และเพิ่มการเสียชีวิตในระยะปริกำเนิด (Perinatal Mortality) ได้ด้วย
สำหรับผู้สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ปริมาณความเข้มข้นของมลพิษอากาศและฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยหากแบ่งตามกลุ่มอายุจะพบว่า กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีการเจ็บป่วยสูงสุด (ร้อยละ 44.43) และผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล มักเป็นผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ (คิดเป็นร้อยละ 52.83) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวก็มาขอรับการรักษาในวันที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นก็ไม่น้อยเช่นกัน (คิดเป็นร้อยละ 47.17)
นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังรายงานว่าฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางจิตเวชด้วย เนื่องจาก PM2.5 มีผลต่อการอักเสบของหลอดเลือดและระบบประสาท จึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสารสื่อประสาท ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด และการฆ่าตัวตายตามมา
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นอกเหนือจากการไม่ออกกำลังกายและการสูบบุหรี่ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่รู้จักกันมานาน รวมถึงยังมีหลักฐานทางวิชาการมากพอที่จะมีการระบุได้ว่า PM2.5 ถือเป็นสารก่อมะเร็งอันดับต้น ๆ อย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีขนาดที่เล็กมากจนแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ร่างกายได้แล้ว มันยังมีแกนคาร์บอนที่ดูดซับเอาสารพิษไว้มากถึง 500-600 ชนิด ฉะนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าเราจะได้เห็นผลกระทบจาก PM 2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน ที่มีผลต่อคุณภาพของประชากรและภาระค่าใช้จ่ายของสังคมอีกมหาศาลในระยะยาว
สำหรับประเทศไทย สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เผยว่านอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาภัยพิบัติฝุ่นพิษตามฤดูกาลแล้ว เรื่องความไม่พร้อมของระบบข้อมูลก็เป็นอีกความท้าทายที่ส่งผลต่อการลดผลกระทบจาก PM2.5 ของคนไทย โดยเฉพาะการขาดข้อมูลด้านคุณภาพอากาศที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน แม้ในปัจจุบันเราจะมีเครื่องวัดฝุ่นแบบ Low Cost Sensor ใช้งานกันมากขึ้น แต่เรายังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลให้เกิดเครือข่ายการติดตามคุณภาพอากาศที่มีมาตรฐานและน่าเชื่อถือได้ ที่กระจายอย่างทั่วถึงในทุกท้องถิ่น เพราะสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างระบบแจ้งเตือนสถานการณ์คุณภาพอากาศที่ช่วยปกป้องกลุ่มเปราะบางทุกคนได้อย่างทั่วถึง ให้เกิดขึ้นได้จริง
อ้างอิงข้อมูล
กระทรวงสาธารณสุข
sdgmove.com