ผลกระทบมหาศาลของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ต่อสุขภาวะที่กำลังเปลี่ยนไปของคนไทย
CiCalendar
30 Jan 2024
viewer
9723

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กพบว่าในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาค่าฝุ่น PM2.5 ยังคงพุ่งสูงกว่าปีก่อนๆ ซึ่งที่หนักสุดอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือและกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ส่งผลให้มีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศในประเทศไทยมากถึง 1.52 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์นี้ จะไม่ได้สร้างความวิตกให้คนไทยได้มากเหมือนกับสมัยโควิด-19 แต่ก็เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสื่อมากขึ้นทุกวัน พร้อมกับการทวงถามไปยังรัฐบาลว่า “ตกลงพวกท่านจะมีมาตรการอย่างไรในการดูแลประชาชนในเรื่องนี้” เพราะมันเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเราในหลายด้านทั้งการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ต่างๆ รวมไปถึงการที่เราไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพหลายๆ อย่างได้เหมือนเดิม





จากการศึกษาพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของคนไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ระดับการรับรู้ต่อความรุนแรงของ PM2.5 ส่งผลต่อการตัดสินใจไม่ออกไปมีกิจกรรมทางกาย (physical activity) ของประชาชนถึงร้อยละ 38.1 จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ฝุ่นพิษยังคงคาราคาซังต่อเนื่อง คนไทยก็จำใจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตและมีกิจกรรมทางกายที่น้อยลงเรื่อยๆซึ่งส่งผลต่อภาวะการมีสุขภาพที่ดีของเราในหลายมิติ เช่น


1.ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง

ด้วยความที่ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้ปอดของเราทำงานแย่ลง ดังนั้นเมื่อเราทำกิจกรรมทางกายที่ต้องออกแรง และเร่งอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น มลพิษในอากาศก็จะยิ่งเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดของเรามากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและรวดเร็ว ย่อมส่งผลทันทีต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หรือกระทั่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้คนปกติมีอาการหอบหืดขึ้นมาได้เช่นกัน (ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานจนเกิดการสะสมมลพิษในร่างกายก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้)


2.ประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลง

ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้ประสิทธิภาพการออกกำลังกายของเราลดลง ทั้งในคนที่สุขภาพดีและคนที่มีโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจและปอดของเราจะมีความผิดปกติ ดูดซึมออกซิเจนน้อยลง ทำให้เราไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น


3.ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ

อย่างที่ทราบกันการสัมผัสฝุ่น PM2.5 นั้น สัมพันธ์โดยตรงต่อความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ หายใจหวีด หายใจถี่ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้ย่อมลดทอนความสามารถของผู้คนในการทำกิจกรรมทางกายไปด้วย เช่น ทำให้รู้สึกอึดอัด เหนื่อยล้า ไม่อยากออกกำลัง ฯลฯ นำไปสู่การหลีกเลี่ยงหรืองดการมีกิจกรรมทางกาย จนอส่งผลต่อสุขภาพของบุคคลในท้ายที่สุด


4.เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคสมอง และการเสียชีวิต

ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงในโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ด้วยว่าพิษฝุ่นที่สะสมในร่างกายจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดหนืด จึงมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดในสมองง่ายขึ้น รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองจะแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกได้ นอกจากนี้การสัมผัสฝุ่นละอองในปริมาณมากยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจ เต้นผิดจังหวะ จนอาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งแน่นอนว่าการรับรู้ต่อความเสี่ยงเหล่านี้ย่อมมีผลต่อแรงจูงใจและระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


5.ความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตตกต่ำ

การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศย่อมส่งผลให้บุคคลเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้น โดยอาการทางใจเหล่านี้จะส่งผลต่อระดับการทำกิจกรรมทางกายของผู้คนไปด้วย เนื่องจากการมีปัญหาสุขภาพจิตจะทำให้แรงจูงใจลดต่ำ ระดับพลังงานในร่างกายถดถอย ส่งผลให้เกิดความขี้เกียจที่จะลุกขึ้นไปทำอะไรต่ออะไรนั่นเอง


ในปัจจุบัน ที่หลายพรรคการเมืองเคยได้เสนอนโยบายจัดการปัญหาฝุ่น ไม่ว่าจะในมุมของการออกกฎหมาย การกำหนดมาตรฐานรถยนต์สาธารณะ การควบคุมการก่อสร้างในเขตเมือง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่ดีหากทำได้จริง





เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงถ้าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ก็ย่อมกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาในมิติของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็ควรทำร่วมกัน หากการแก้ปัญหายังคงเป็นแบบเดิมคือต่างคนต่างกระทรวง ต่างแก้ปัญหาโดยไม่มีการร่วมมือกัน หรือบูรณาการการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกัน การแก้ปัญหาก็ยากที่จะแก้ไขอย่างได้ผล


ใน พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งมิติของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างชัดเจน นับเป็นอีกความหวังของประชาชนไทยที่ต้องรอว่าผู้ที่มีอำนาจจะเห็นถึงสุขภาพของคนไทยเป็นที่ตั้งหรือไม่



อ้างอิง

TPAK
https://thailandcan.org/th/library







Share
sharefbxx