เรารู้กันดีว่าการใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 อย่างทุกวันนี้ ถือเป็นการ ‘เสี่ยงภัย’ ต่อสุขภาพของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะ ‘เด็กเล็ก’ ที่การต้านทานมลพิษของระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ และทุกปีจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการดูแล แต่ตราบใดที่การแก้ปัญหาฝุ่นพิษของประเทศไทยยังดำเนินไปในระดับความเร็วนี้ คงไม่ทันกับภัยที่คุกคามพวกเขา การหันกลับมาตั้งหลักเพื่อปกป้อง ‘เด็กของเรา’ ก็อาจเป็นหนทางที่จำเป็นเร่งด่วนกว่า
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่าระดับฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กโดยตรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เด็กเล็ก จะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายของพวกเขาได้รับมลพิษในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงยังส่งผลต่อพัฒนาการของสติปัญญาและระบบประสาทด้วย
การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กสรุปว่าอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกับเด็กเล็ก ‘โดยตรง’ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. แสบตา แสบจมูก ระคายผิว แน่นหน้าอก หอบหืด
ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน ทั้งอาการแสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ และระคายเคืองผิวหนัง จนถึงหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีภูมิแพ้และหอบหืดเป็นโรคประจำตัว ทางเดินหายใจของเขาจะไวมากต่อการถูกกระตุ้นโดยฝุ่นทำให้อาการกำเริบ และหากได้รับฝุ่นสะสมต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป เช่น มีภาวะหายใจเร็วเฉียบพลันหายใจลำบาก แน่นหน้าอก หอบหืดกำเริบรุนแรง เป็นต้น
2. เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ
การที่ฝุ่น PM2.5 เข้าไปสะสมในร่างกายเด็กต่อเนื่องยาว ย่อมส่งผลให้เด็กมีสมรรถภาพปอดลดลง ในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบ หอบหืดร้ายแรง รวมถึงโรคมะเร็งระบบทางเดินหายใจและมะเร็งปอด นอกจากนี้ เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมากจนสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็กที่หัวใจที่อาจเกิดการหดตัว นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคของหลอดเลือดหัวใจในระยะยาวได้
3. มีปัญหาสมาธิสั้น IQ ต่ำ พัฒนาการช้า และสมองเสียหายถาวร
ในปัจจุบัน กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญการด้านพัฒนาการเด็กในประเทศไทยต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าหากร่างกายของเด็กเล็กได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 แบบต่อเนื่อง ฝุ่นจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด เข้าสู่ระบบประสาทและสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเกิดความผิดปกติหรือถูกทำลาย จึงทำให้เกิดปัญหาสมาธิสั้น จึงมีความเสี่ยงที่เด็กจะสติปัญญาด้อยลง (IQ ต่ำ) มีพัฒนาการช้า รวมทั้งอาจทำให้สมองมีความเสียหายอย่างถาวร
การสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นให้เด็กเล็กใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตได้อย่างปลอดภัย ได้กลายเป็นข้อเสนอที่ทุกภาคส่วนในสังคมเห็นพ้องว่าต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น โดยให้เริ่มต้นที่สถานศึกษาหรือโรงเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อไม่นานมานี้ผลสำรวจอนามัยโพล (โดยกรมอนามัย) พบว่าผู้ปกครองยังคงมีความกังวลต่อสุขภาพของบุตรหลานที่ต้องเดินทางมาโรงเรียนและอาจมีกิจกรรมกลางแจ้งที่โรงเรียน โดยการสอบถามเผยว่า 95.1% มีความกังวลว่าเด็กจะหายใจอากาศที่ไม่สะอาดเข้าสู่ร่างกาย และ 93.1% กังวลว่าฝุ่นจะทำให้เด็กมีอาการระคายเคืองจมูกและตา ในขณะที่ประเด็นที่ผู้ปกครองต้องการมากที่สุดคือ ‘ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้อง’ ในการดูแลป้องกันผลกระทบของฝุ่นพิษต่อเด็กในครอบครัว รวมถึงการจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นที่มีมาตรฐานในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก
จากข้อมูลดังกล่าวกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดทำแนวทางลดและป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 สำหรับสถานศึกษาและมีปฏิบัติการให้ความรู้-สร้างความเข้าใจแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงออกสำรวจความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ฝุ่นได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. ทำความสะอาดห้องโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามบริเวณต่างๆ เป็นประจำ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย
2. ควรงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันรอบบ้าน เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน
3.สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง
4. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อลดฝุ่นในห้อง และอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีขนาดเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้องด้วย
ระยะสั้น
1. หลีกเลี่ยงให้เด็กทำกิจกรรมในที่โล่ง เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง การออกกำลังกายกลางแจ้ง
2. งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นควันในบริเวณโรงเรียน เช่น เผาใบไม้ เผาขยะ
3. ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้จอดรถนอกโรงเรียน และดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถทั้งในและนอกอาคาร
4. ติดตามข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ฝุ่นทุกวัน เพื่อหาทางป้องกันให้กับนักเรียน
5. ควรดูแลเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
6. จัดหาหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก สำรองไว้ที่โรงเรียน
7. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่น ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นรุนแรง
8. ขอความร่วมมือจากร้านค้าที่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นควันโดยรอบโรงเรียน เช่น หากจำหน่ายอาหารปิ้งย่าง ก็ให้ใช้เตาไร้ควัน
ระยะยาว
โรงเรียนควรปลูกต้นไม้บริเวณรอบอาคารเพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ
1. จัดหาหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 สำหรับเด็กไว้ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัยให้เด็กเมื่อต้องออกจากบ้าน
2. หลีกเลี่ยงหรืองดพาบุตรหลานไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง หากจำเป็นให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน โดยผู้ปกครองควรใช้แอพลิเคชันเช่น AirVisual หรือ AIR 4Thai ตรวจสอบปริมาณฝุ่นก่อนออกจากบ้านว่าปลอดภัยที่จะพาลูกไปหรือไม่
3. สังเกตอาการบุตรหลาน หากมีอาการไอจามผิกปกติ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
4. ติดตามข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ฝุ่นประจำวันเพื่อสื่อสารกับทางโรงเรียน ผู้ปกครองควรบอกกับโรงเรียนได้ว่าขอให้เด็กงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน
5. เสริมวิตามินให้บุตรหลาน คำแนะนำจาก UNICEF คือให้รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ และโอเมก้า 3 ให้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูล
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงศึกษาธิการ