มาทำความรู้จักค่ามาตรฐานของ PM2.5 ให้ลึกขึ้นอีกนิด ว่าค่าฝุ่นนี้ตกลงเราใช้เกณฑ์ชี้วัดจากไหน และควรอ้างอิงมาตรฐานใดเพื่อการระแวดระวังสุขภาพเรา
ค่ามาตรฐาน PM2.5 คืออะไร
ค่ามาตรฐาน PM2.5 นี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อบ่งชี้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ โดยมีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันคิดค่าเฉลี่ยได้สองแบบคือราย 24 ชั่วโมงและรายปี ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศเมื่อ 1 มิ.ย. 2566 คือประเทศไทยเราได้ปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ โดยปรับเกณฑ์อันตรายจากเดิมที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พร้อมปรับดัชนีคำเตือนผลกระทบต่อสุขภาพระดับร้ายแรง (สีแดง) ให้เริ่มต้นตั้งแต่ 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับการแจ้งเตือนดัชนีคุณภาพอากาศยังคงแบ่งเป็น 5 ระดับค่าสีตามเดิม คือ ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง)
แต่สิ่งที่เราหลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ค่ามาตรฐานฝุ่นที่ไทยเราอ้างอิงอยู่นี้ มันยัง ‘หย่อน’ กว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศใช้อยู่พอควร เพราะปัจจุบันองค์กรอนามัยโลกตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ถือว่าเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว (แต่อันนี้อาจเป็นการตั้งเกณฑ์ให้เข้มงวดสูงสุดไว้ก่อนในแง่สุขภาพมวลชน)
ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) กับค่าฝุ่น PM2.5
ที่เราควรรู้คือดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index : AQI ที่ประเทศไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถือเป็นรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไปมากที่สุด ซึ่งภาครัฐก็จะใช้ข้อมูลนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่โดยดัชนีคุณภาพอากาศนี้นอกจากจะเกี่ยวโยงกับ PM2.5 โดยตรงแล้ว มันยังเป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ด้วย
ปัจจุบันค่า AQI 1 ค่า จะบอกได้ถึงสารมลพิษในอากาศทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่
1. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)ที่แทรกซึมเข้าไปได้ถึงถุงลมปอด หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง เกิดหลอดลมอักเสบ หอบหืด ฯลฯ
2. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากเข้าไปสะสมในระบบทางเดินหายใจเช่นกัน
3. ก๊าซโอโซน (O3) ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองดวงตา ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคปอด
4. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เมื่อหายใจเข้าไปจะทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียและหัวใจทำงานหนักขึ้น
5. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) มีผลต่อการมองเห็น และผู้ที่มีอาการหอบหืด หรือมีโรคในระบบทางเดินหายใจ
6. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานานจะทำให้เป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของเราแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป (ตารางที่ 1) ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ส่วนค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ก็จะสัมพันธ์กับค่า AQI นี้ โดยมีการปรับปรุงใหม่ให้เกณฑ์สีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก) เริ่มจาก 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป (ตารางที่ 2)
ความท้าทายเรื่องค่าฝุ่น
ปัจจุบันไม่เพียงแต่เรื่องการปรับค่ามาตรฐานที่ยังเป็นข้อท้าทายของหน่วยงานราชการไทย อีกส่วนที่ดูเป็นข้อท้าทายไม่แพ้กันก็คือ การเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบทันท่วงทีและกระจายครอบคลุมทั่วถึงตามพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ ทุกวันนี้แม้เครื่องตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะกระจายครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนมากและปัจจัยแวดล้อมด้านสภาวะมลพิษที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัด ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่ประชาชนจะต้องรู้ถึงคุณภาพอากาศในจุดที่ตัวเองอยู่ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที
นอกจากนี้ ยังถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งปรับแผนการจัดการฝุ่นปี 2567 ใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานค่าฝุ่นที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ โดยต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับหลักวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ไปพร้อมกัน เพื่อให้ส่วนราชการและประชาชนร่วมกันแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศนี้ได้สำเร็จตามเป้าหมาย
เราสามารถดูข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในท้องที่ของเราได้ผ่านแอพ IQAir หรือ Air4Thai ในสมาร์ทโฟนทุกระบบ
อ้างอิงข้อมูล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
Thecitizen.plus
Thai PBS