ในปี 2024 โลกยังคงเผชิญกับปัญหามลพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและทารก
ข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาทางระบาดวิทยาชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสองที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต (รองจากการขาดสารอาหารเท่านั้น)
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ที่ต้องการลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
1. การเสียชีวิตในเด็ก : สถิติที่น่าสะเทือนใจชี้ให้เห็นว่าในปี 2021 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึง 709,000 คน ซึ่งคิดเป็น 15% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในกลุ่มอายุนี้ โดยแบ่งเป็นการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน 507,500 คน และจากมลพิษทางอากาศภายนอก (PM2.5) 201,000 คน นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี มีการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศอีก 16,600 คน ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหา และความจำเป็นที่เราต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
2. ผลกระทบตั้งแต่ก่อนเกิด : การวิจัยล่าสุดพบว่ามลพิษบางชนิดสามารถเดินทางผ่าน ‘รก’จากแม่สู่ลูกได้ ส่งผลให้ทารกในครรภ์ได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนคลอด ซึ่งการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระหว่างตั้งครรภ์นี้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำ รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว ทารกที่เกิดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและการติดเชื้อร้ายแรงอื่น ๆ ในเวลาต่อมา
3.ระบบทางเดินหายใจ : เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เมื่อสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ โดยมีโรคหอบหืดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก อาการที่เห็นได้ชัด เช่น หายใจเสียงหวีด หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และไอ แต่ที่อันตรายถึงชีวิตคือในบางครั้งเด็กอาจเกิดอาการเฉียบพลันที่เรียกกันว่า “หอบหืดกำเริบ” ขึ้นได้ นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กเล็กจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง
4. พัฒนาการทางสมอง : การศึกษาล่าสุดชี้ว่าการสัมผัสมลพิษตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก เหตุเพราะมลพิษทางอากาศ (โดยเฉพาะอนุภาคขนาดเล็ก) สามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท นำไปสู่ปัญหาด้านการเรียนรู้ ความจำ และพฤติกรรม ผลกระทบเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถทางการศึกษาและโอกาสในชีวิตของเด็กในระยะยาว
5. ผลกระทบระยะยาว : การสัมผัสมลพิษในวัยเด็กเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจและมะเร็ง การศึกษาระยะยาวพบว่า เด็กที่เติบโตในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงมีแนวโน้มที่จะมีสมรรถภาพปอดต่ำกว่าเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ การสัมผัสกับสารก่อมะเร็งในอากาศตั้งแต่วัยเด็กย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในช่วงชีวิตต่อมา
1. อัตราการหายใจ: เด็กหายใจเร็วกว่าและบ่อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กจะหายใจเข้าออกประมาณ 20-30 ครั้งต่อนาที เทียบกับผู้ใหญ่ที่หายใจประมาณ 12-20 ครั้งต่อนาที นอกจากนี้ เด็กมักหายใจทางปากมากกว่า
ซึ่งทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปไม่ได้รับการกรองผ่านจมูก ทำให้สูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว
2. พฤติกรรม: เด็กมักใช้เวลากลางแจ้งและอยู่ใกล้กับพื้นดินมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับมลพิษมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรืออยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในหลายประเทศกำลังพัฒนา เด็กอาจต้องใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับแหล่งมลพิษทางอากาศในครัวเรือน เช่น เตาหุงต้มที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง ฯลฯ
3. ร่างกายที่กำลังพัฒนา: อวัยวะของเด็ก เช่น ปอดและสมอง ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะปอดของเด็กที่ยังคงพัฒนาจนถึงช่วงวัยรุ่น การสัมผัสกับมลพิษในช่วงนี้จึงอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสมรรถภาพของปอดในระยะยาว เช่นเดียวกันกับสมองของเด็กที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโต ย่อมมีความไวต่อสารพิษในอากาศมากกว่าผู้ใหญ่
4. ระบบภูมิคุ้มกัน: ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ทำให้ต้านทานผลกระทบจากมลพิษได้น้อยกว่า เด็กจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและการเกิดปฏิกิริยาอักเสบเมื่อสัมผัสกับมลพิษ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรเอกชน และภาคชุมชน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ยั่งยืนในการลดมลพิษทางอากาศ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับอนาคตของเด็ก ๆ ได้ อาทิ
1. ใช้นโยบายควบคุมมลพิษที่เข้มงวดขึ้น: รัฐบาลควรออกกฎหมายและบังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการลดมลพิษทางอากาศจากการจราจรและอุตสาหกรรม เช่น การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นสำหรับยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม และการวางผังเมืองที่คำนึงถึงผลกระทบด้านมลพิษ
2. ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน: รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนควรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดสำหรับการหุงต้มและให้ความร้อนในครัวเรือน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดมลพิษทางอากาศภายในบ้าน เช่น การสนับสนุนการใช้เตาประสิทธิภาพสูง หรือการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซชีวภาพ
3. กระจายความรู้สู่ประชาชน: จัดทำโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพเด็กอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการดูแลสุขภาพเด็กในทุกชุมชน
อ้างอิง
รายงานพิเศษ State of Global Air 2024: a special report on global exposure to air pollution and its health impacts, with a focus on children health โดย Health Effects Institute