อย่างที่ทราบกันว่าเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเริ่มมีการถกร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดกันไปแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ผ่านเข้าไปในสภาฯ มีทั้งสิ้น 7 ฉบับโดย 6 ฉบับเสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมือง ส่วนอีก 1 ฉบับ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่
น่าสนใจคือมีเพียงร่างฯ ของเครือข่ายอากาศสะอาดฉบับเดียวเท่านั้นที่มีการพูดถึงการจัดตั้ง “กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” ในฐานะเครื่องมือช่วยเหลืออุดหนุนการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งรวมถึงเรื่องฝุ่น PM2.5 ด้วย
ทำไมกองทุนอากาศสะอาดฯ จึงสำคัญมาก – เราพึ่งพาแค่งบประมาณแผ่นดินไม่พอหรือ
จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอยู่...เราทุกคนคงตอบคำถามนี้ได้เอง ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชนได้เคยแถลงไว้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาหมอกควันพิษด้วยการใช้บทลงโทษทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง เพราะแม้ว่าจะมีการคาดโทษไว้สูงแค่ไหน ก็ยังพบผู้กระทำผิดได้แบบไม่เกรงกลัวกฎหมายอยู่ดี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอีกทาง โดยมีวัตถุประสงค์จูงใจให้ผู้คน ‘ลดละเลิก’ พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาเลือกใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
โดยตัวอย่างของเครื่องมือที่ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
กลุ่มแรก คือ เครื่องมือที่ทำให้ผู้คนลดละเลิกพฤติกรรม (Commands & Controls) เช่น การเก็บเงินเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เช่น เครื่องยนต์สันดาป น้ำมัน ก๊าซ เครื่องจักร เรือ บุหรี่ สุรา ฯลฯ) การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดอากาศสะอาดจากคนที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม การบังคับทำประกันภัยกิจกรรมที่เสี่ยงกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยเงินที่เก็บได้นี้จะนำมารวบรวมไว้ในกองทุนอากาศสะอาดฯ เพื่อจะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษและสุขภาพต่อไป
กลุ่มที่สอง คือ เครื่องมือสร้างแรงจูงใจหรือส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเลือกใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Subsidies & Incentives) เช่น การนำเงินซึ่งเก็บมาจากเครื่องมือในกลุ่มแรกมาใช้อุดหนุน สนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรแทนการใช้วิธีการเผา อุดหนุนและส่งเสริมการใช้รถยนต์และเครื่องจักรพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้มีการใช้อย่างเป็นรูปธรรมและแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนขายให้ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปใช้ได้ด้วย นำเงินอุดหนุนส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและดับไฟป่า รวมทั้งช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่เด็ก สตรี คนชรา ผู้ป่วย คนกลุ่มเปราะบางทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ฯลฯ
กลุ่มสุดท้าย คือ การใช้กลไกตลาดลดมลพิษ (Market-based) เช่น การออกใบอนุญาตปล่อยมลพิษให้แต่ละโรงงานในปริมาณจำกัด และอนุญาตให้โรงงานที่หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาดจนทำให้ปล่อยมลพิษลดลงต่ำกว่าที่ระบุไว้ใบอนุญาต สามารถนำสิทธิการปล่อยมลพิษที่ลดลงนั้นไปขายให้โรงงานอื่นๆ ที่กำลังขยายโรงงานหรือต้องการปล่อยมลพิษมากขึ้นได้ กลไกนี้จะทำให้แต่ละโรงงานหันมาเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดกันมากขึ้นเพื่อหวังจะนำสิทธิการปล่อยมลพิษไปขายทำกำไร หรือนำไปขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้นได้
บางคนสงสัยว่าแล้วทำไมต้องตั้งกองทุนขึ้นมาหาเงินเอง ทำไมไม่ใช้เงินงบประมาณ หรือเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเดิม ?
คำตอบก็คือ หนึ่งสาเหตุหลักที่เราจัดการปัญหาหมอกควันพิษไม่สำเร็จก็เพราะว่าเราขาดงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องไม่ลืมว่า เคยมีผลการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการแล้วว่า ฝุ่น PM2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อเครัวเรือนไทยในแต่ละปีมากมายกว่า 2 ล้านล้านบาท
ดังนั้น การจะแก้ไขความเสียหายที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ย่อมต้องใช้เงินจำนวนมากมาจัดการปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวข้างต้นมาใช้ร่วมด้วย (เพราะจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก)
ซึ่งพอมาตรวจดูงบประมาณประจำปีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาหมอกควันพิษ เราจะเห็นว่ากระทรวงฯ นี้ได้งบประมาณน้อยมาก ทั้งที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตแล้ว
นอกจากนี้ หากจะนำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ ก็ยังติดข้อจำกัดด้านรายจ่ายที่ไม่สามารถครอบคลุมกับทุกปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดขึ้น แถมยังขัดกับหลักการที่ผู้ก่อมลพิษควรเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย (กล่าวคือกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีรายรับมาจากเงินภาษีประชาชน ไม่ได้มาจากเงินของผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ ซึ่งนำไปสู่ประเด็นความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม)
คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชนยังระบุด้วยว่า ลักษณะสำคัญของกองทุนนี้ควรจะเป็น กองทุนนอกงบประมาณแผ่นดินที่มีรายได้เป็นของตนเอง ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ไม่เป็นภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ และควรมีแหล่งรายได้หลักมาจาก
1) เงินเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิต เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น รถยนต์สันดาป น้ำมัน สุรา บุหรี่ เครื่องจักร เรือ ฯลฯ
2) ค่าธรรมเนียมบำบัดหมอกควันพิษ
3) เงินชดเชยความเสียหายที่ได้รับจากการฟ้องร้องคดีก่อมลพิษข้ามแดน เหล่านี้เป็นต้น
ส่วนด้านรายจ่ายของกองทุนก็ต้องมีการระบุลักษณะการใช้เงินที่ชัดเจนเช่นกัน อาทิ ใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากหมอกควันพิษ การดับไฟป่า การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การเพิ่มสถานีตรวจวัดอากาศ การติดเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การอุดหนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาด (เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรช่วยเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว) การฟ้องร้องดำเนินคดี(เช่น ฟ้องหน่วยงานรัฐ ฟ้องคดีมลพิษข้ามแดน) ไปจนถึงใช้สนับสนุนงานวิจัยด้านอากาศสะอาดและสุขภาพ การประสานงานกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อจัดการมลพิษ ฯลฯ
นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ว่าทำไมกฎหมายอากาศสะอาดฉบับใหม่ถึงควรระบุให้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ’ ที่ใช้สำหรับการจัดการปัญหาหมอกควันพิษโดยตรง และแหล่งที่มาของเงินกองทุนนี้ก็ควรมาจากผู้ที่ก่อมลพิษทางอากาศเป็นหลัก ไม่ใช่จากเงินภาษีของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้สร้างมลพิษทางอากาศ เราเชื่อว่าหากกองทุนนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง มันจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากต่อการแก้ปัญหาฝุ่นให้ได้ทันการณ์ ต่อเนื่อง และยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
และอาจจะเป็นความหวังของคนไทยที่จะได้กลับมาหายใจอากาศสะอาดกันอีกครั้ง
อ้างอิง