ส่องมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นที่ ‘เวิร์คจริง’ จากหลายมุมโลก
CiCalendar
30 Jan 2024
viewer
7929


ส่องมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นที่ ‘เวิร์คจริง’ จากหลายมุมโลก

ภัยจากมลพิษทางอากาศกำลังเป็นหายนะที่คุกคามผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะกับผู้คนที่อาศัยตาม ‘เมืองใหญ่’ ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของเมืองในหลายมิติ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลายๆ เมืองได้พยายามออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในอากาศ เพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาพของประชาชน หลายเมืองประสบความสำเร็จได้ในระดับน่าพอใจ เรามาดูกันว่าพวกเขาเอาจริงเอาจังกับการสู้สถานการณ์ฝุ่นนี้อย่างไร และไทยเราน่าจะถอดบทเรียนไหนมาใช้กับปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน



กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ถ้าถามถึงประเทศที่รับมือกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ดี คุณอาจไม่เชื่อว่าหนึ่งในนั้นคือ ‘ประเทศจีน’ ผู้ซึ่งเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศหนักหน่วงจากฝีมือมนุษย์ แต่ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อยู่หมัด โดยที่มาของปัญหาฝุ่นในจีนนั้นส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ซึ่งจีนโฟกัสการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ไปที่ ‘ต้นตอ’ เป็นหลัก นั่นคือการลดมลพิษจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ ที่ผ่านมาจีนเข้มงวดมากกับการปรับมาตรฐานยานพาหนะและการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม รถยนต์เก่าถูกโละทิ้งไปกว่า 20 ล้านคัน มีโรงงานกว่า 6 หมื่นแห่งที่ถูกปิดหรือต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบป้ายทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ของรถยนต์ที่ได้รับอนุญาติให้วิ่งในเมือง รวมถึงสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนเป็นการชั่วคราวในพื้นที่ที่มีปัญหาหมอกควันด้วย


ผลลัพธ์คือภายในกรอบเวลา 5 ปี ที่รัฐบาลจีนเริ่มแก้มลพิษทางอากาศ กรุงปักกิ่งซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่เจอปัญหานี้หนักที่สุดก็สามารถลดความรุนแรงของพิษฝุ่นไปได้ถึง 25%





กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

อีกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับ PM2.5 คือ ‘เกาหลีใต้’ มาตรการของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การจัดการต้นตอของฝุ่นเช่นกัน (อันได้แก่ถ่านหินและควันรถ) เริ่มตั้งแต่การออกกฎห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าๆ เข้ามาวิ่งในกรุงโซล การจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของลูกจ้างรัฐ มีการปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐกว่า 360 แห่ง ต่อด้วยการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ดีเซล เพื่อผลักดันให้ผู้คนเลิกใช้รถประเภทนี้แบบถาวร นอกจากนี้ทางการเกาหลีใต้ได้ทยอยปิดกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าทั่วประเทศ รวมถึงควบคุมการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เพื่อลดมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือน้อยที่สุด


รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่ามาตรการข้างต้นจะสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในประเทศเขาได้ราว 35% ในปี พ.ศ. 2567




กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ไปดูนอกภูมิภาคเอเชียบ้าง ปัจจุบันหลายเมืองในยุโรปใช้กลุ่มนโยบายที่เรียกว่า Clean Air Policy Package เข้าจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ ยกตัวอย่างกรุงลอนดอนที่ไม่ได้สั่งห้ามรถยนต์รุ่นเก่า(ที่ปล่อยมลพิษ)วิ่งเข้าเมือง แต่ถ้าจะเข้ามาวิ่งในเมืองจริงๆ เจ้าของรถก็ต้องเสียเงินราว 5 หมื่นบาทต่อวันเป็นการชดเชยที่สร้างมลพิษในเขตเมืองด้วย


นอกจากนี้ในฐานะที่กรุงลอนดอนมีเครือข่ายรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีรถเมล์ให้บริการถึงเกือนหมื่นคัน หน่วยงาน Transport for London (TFL) ได้ทยอยเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถไฮบริดและรถพลังงงานไฟฟ้า โดยงานนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและบริษัทเอกชนหลายแห่ง (ที่ได้รับสัมปทานเดินรถจาก TFL) ส่งผลให้กรุงลอนดอนลดมลพิษทางอากาศจากเครือข่ายรถเมล์ลงได้ถึง 30% ในปัจจุบัน




กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในฐานะมหานครที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี พ.ศ. 2567 กรุงปารีสออกกฎห้ามรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี พ.ศ. 2540 ขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองมาสักพักใหญ่แล้ว รวมทั้งห้ามรถยนต์ดีเซลทั้งหมด

ที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี พ.ศ. 2544 ขับเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วยนอกจากนี้ ทางการฝรั่งเศสยังออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งวางแผนออกแบบให้ย่านใจกลางกรุงปารีสเป็นเขตถนนคนเดิน (รวมถึงจักรยาน/จักรยานไฟฟ้า) ทั้งหมดในอนาคตข้างหน้า





ในส่วนของประเทศไทย ยังคงเฝ้ารอมาตรการของรัฐบาล ที่จะมาในรูปแบบของ พรบ อากาศสะอาดที่มีผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของสภา ถึง 7 ร่าง และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า จะใช้ฉบับใดและยังไม่มีความแน่ชัดว่า พรบ ที่ผ่านสภาและประกาศใช้จริง จะมีความเป็นไปได้เพียงใดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5


เราในฐานะประชาชน จำเป็นต้องหาข้อมูลถึงความแตกต่างของร่าง แต่ละร่าง รวมทั้งจากเฝ้าติดตามการทำงานของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหากันต่อไป


อ้างอิง
Thairath

BBC


Share
sharefbxx