การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
CiCalendar
21 Nov 2023
viewer
1623

การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์


สำหรับคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่อยากทำความเข้าใจมูลค่าของ ‘อากาศสะอาด’ ที่เราหายใจกันอยู่ บทความนี้ จะช่วยให้คุณได้เข้าใจมากขึ้น ว่าปัญหามลพิษทางอากาศนี่มันเกี่ยวโยงกับเศรษฐศาสตร์การเมืองได้อย่างไร และ ทำไมบ้านเราถึงยังแก้ปัญหานี้ไม่ตกเสียที


ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว อากาศสะอาดถือเป็น ‘สินค้าสาธารณะ’ เนื่องจากเราไม่สามารถกีดกันการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากอากาศได้ นอกจากนี้อากาศยังเป็นสินค้าที่ไม่แบ่งปันในการบริโภคได้ (Non-rival in consumption) กล่าวคือการบริโภคสินค้า (อากาศ) ของเรา ไม่ได้ทำให้ปริมาณสินค้าในการบริโภคของคนอื่นลดลง นัยยะนี้นำมาซึ่งปัญหา Free Rider ในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่เอกชนหรือใครคนใดคนหนึ่งที่ลงทุนดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น แต่เอกชนหรือคนอื่นที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย ก็จะได้รับประโยชน์จากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเช่นกัน


ประเด็นนี้เองที่ทำให้เอกชนหรือคนบางกลุ่ม เลือกที่จะไม่ลงทุนหรือลงแรงใดๆเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศแต่รอที่จะได้รับประโยชน์เพียงอย่างเดียว




ปัญหา Free Rider ที่เราพูดถึงข้างต้นนี้ มีส่วนทำให้สินค้าสาธารณะที่จำเป็นต่อสังคมหลายๆ อย่าง ถูกผลิตขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในบริบทของเรื่องมลพิษทางอากาศมันมีส่วนลิดรอนการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศสะอาดของประชาชนโดยทั่วไปด้วย เช่น การที่กรมควบคุมมลพิษมีสถานีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ครบทุกจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่ที่สุด แต่กลับมีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศน้อยมาก ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วสภาพการณ์นี้เรียกว่า “ความล้มเหลวของตลาด” (Market Failure) เนื่องจากอากาศสะอาดเป็นทรัพยากรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สมบูรณ์ กลไกตลาดจึงไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการใช้อากาศสะอาดของภาคเอกชนได้ และทำให้ทรัพยากรนี้ถูกใช้อย่างเกินระดับความพอดีในสังคมไปมาก


หลายคนคงอยากถามว่าแล้วเราจะแก้พฤติกรรม Free Rider แบบนี้ได้อย่างไร เพราะเราก็อยากให้ทุกฝ่ายในสังคมได้ ‘ร่วมลงทุน’ ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนี้ด้วยกัน



ในเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอากาศสะอาด (โดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย) มองว่า ภาครัฐจำเป็นต้องศึกษาการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ควบคู่กับมาตรการสั่งการและควบคุมที่มีอยู่เดิม พร้อมทั้งแสดงบทบาทเชิงก้าวหน้าในการจัดหาสินค้าสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการในสังคมให้มากขึ้น

ซึ่งในที่นี้ก็คือการก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าภาพแสวงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (collective action) รวมถึงนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์หลากหลายประเภทมาใช้บูรณาการกัน เช่น


1.จัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพและเงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากที่สุด โดยเงินกองทุนฯ นี้จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริม คุ้มครอง บำบัดฟื้นฟู ป้องกัน และจัดการปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันพิษและสุขภาพ ตลอดจนเพื่อการบริหารจัดการสำนักงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่มาของเงินกองทุนฯ อาจได้มาจากหลายแหล่ง เช่น เงินอุดหนุนจากรัฐ เงินบำรุงจากภาษีสรรพสามิต เงินค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ และเงินที่ได้รับจากมาตรการทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เช่น เงินบริจาค และดอกผล ในขณะที่การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ก็ควรต้องระบุวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงเช่นกัน


2.เก็บภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีอื่นๆ

โดยมีข้อเสนอแนะเช่น

- กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง เก็บภาษีรถยนตเชื้อเพลิงน้ำมันสูงขึ้นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เอกชนหันมาใช้เชื้อเพลิงสะอาด

- กรมสรรพากรลดหย่อนภาษีแก่ผู้เสียภาษีเงินได้ที่ซื้้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้แทนรถยนต์น้ำมัน

- กรมการขนส่งทางบกลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่เก็บภาษีรถยนต์น้ำมันในอัตราก้าวหน้าตามจำนวนปีที่ใช้งาน

โดยข้อเสนอแนะข้างต้นอาจต่อยอดไปสู่การออกกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่ออากาศสะอาดในอนาคต พร้อมการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีของแต่ละหน่วยงานให้เป็นระบบและเชื่อมโยงกัน


3.เก็บค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ

รัฐควรเรียกเก็บเงินส่วนนี้จากภาคเอกชน ในการได้รับบริการหรือการได้ใช้ทรัพยากรจากภาครัฐ หรือทรัพยากรสาธารณะในการบำบัดอากาศเสียแบบรวม วัตถุประสงค์คือ เพื่่อลดแรงจูงใจในการใช้แหล่งกำเนิดหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดหมอกควันพิษ โดยแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่ควรต้องเสียค่าธรรมเนียมนี้ เช่น กิจกรรมการเกษตรและการเผาในที่โล่งแจ้ง เครื่่องยนต์หรือยานพาหนะทุกชนิดที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง เครื่องจักรที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมถึงโรงไฟฟ้า กิจการเหมืองแร่ และโครงการก่อสร้างและพัฒนาเมือง เป็นต้น


4.ระบบฝากไว้ได้คืน (Deposit-Refund)

ระบบนี้มักถูกนำมาใช้กับสินค้าที่มีปัญหาด้านการกำจัดซาก หรือสินค้าที่ยิ่งเก่ายิ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ เครื่องจักร ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี โดยระบบนี้จะมีกฎหมายบังคับเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้าหรือบริการ (ทอดแรก) เพิ่มเติมจากราคาซื้อขายปกติ ซึ่งเรียกกว่า “การฝาก” (deposit) และจะคืนเงินนี้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์เมื่อครบกำหนดอายุการใช้งานตามเงื่อนไขกฎหมาย เรียกว่า “การได้คืน” (refund)

โดยเครดิตเงินที่จะได้รับคืนนี้จะติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขายยางรถยนต์จะขายในราคาที่รวมค่าบริการกำจัดซากที่กฎหมายเรียกเก็บเพิ่มไว้ และเมื่อผู้ซื้อใช้ยางจนครบอายุการใช้งานและนำมาคืน ณ สถานที่ที่กฎหมายกำหนด ก็จะได้รับเงินส่วนนี้กลับคืนไปเป็นต้น


5.การกำหนดและโอนสิทธิในการปล่อยมลพิษทางอากาศ

คล้ายกับมาตรการเรื่องสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบนี้จะมีภาครัฐเป็นเจ้าภาพ (เจ้าของระบบ) แสดงบทบาทเป็นกลไกการตลาดรูปแบบหนึ่งที่เปิดให้เกิดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยมลพิษทางอากาศระหว่างองค์กรภาคเอกชนกันเอง โดยเริ่มจากภาครัฐกำหนดระดับเพดานการปล่อยสารพิษที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเมื่อเทียบกับปีฐาน (cap) ให้กับกิจการที่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศสูง และจัดสรรสิทธิในการปล่อยสารพิษ (allowance allocation) ให้กับกิจการในระบบ กรณีที่กิจการใดปล่อยมลพิษทางอากาศต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็สามารถนำสิทธิที่เหลือไปขายให้กับกิจการอื่นที่จำเป็นต้องปล่อยมลพิษเกินกว่าระดับ cap ที่ภาครัฐอนุญาตได้


6.อุดหนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่ดำเนินการด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

เครื่องมือนี้เน้นการเพิ่มแรงจูงใจด้วยการส่งเสริมให้ภาคสังคมทำกิจกรรมที่ลดมลพิษทางอากาศ โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพด้วย เช่น สนับสนุนการดับไฟป่า อุดหนุนกิจการที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันปัญหาการเผาทางการเกษตร ส่งเสริมให้ชุมชุนมีส่วนร่วมอย่างจริงใจในการแก้ไขมลพิษทางอากาศ หรือใช้ในการฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับเรื่องหมอกควันพิษข้ามแดน เป็นต้น




ดังที่ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่าหากเรานำหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจะต้องตีราคาของสิ่งแวดล้อมให้ได้เสียก่อน และเราต้องเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีขีดความสามารถในการปรับตัวไม่เท่ากัน ภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้การปรับตัวของแต่ละคนง่ายขึ้นเร็วขึ้น ด้วยมาตรการควบคุมพฤติกรรมที่เน้น ‘แรงจูงใจ’ มากกว่า ‘การบังคับ’ รวมถึงการใช้กลไกแทรกแซงราคา หรือแทรกแซงควบคุมปริมาณ เช่นการซื้อขายใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น


เชื่อแน่ว่าหากรัฐต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังแล้ว เราจะได้เห็นการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อีกหลายด้าน ด้วยเชื่อว่าในรัฐบาลชุดนี้มีนักนโยบายที่เข้าใจเรื่องการจัดสรรรายได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี


อ้างอิงข้อมูล

Clean Air Green Paper

The 101 world

Share
sharefbxx