สังคมและเศรษฐกิจไทย…เจ็บแค่ไหนจากฝุ่น PM2.5
CiCalendar
03 Sep 2023
viewer
11998

หลายปีที่ผ่านมา หากอ้างอิงตามมาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) แล้ว น่าตกใจว่ามีบ่อยครั้งที่ประเทศเราติดอัน 1 ใน 5 ของประเทศที่มี ‘คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก’ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น รวมถึงเมืองท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง จะพบว่ามีหลายวันที่คนไทยต้องเผชิญฝุ่นพิษ PM2.5 ในระดับหฤโหด จนรัฐบาลต้องออกคำเตือนให้ผู้คนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น รวมทั้งขอความร่วมมือให้ชาวเมืองลดการเดินทางและให้ work from home เท่าที่เป็นไปได้

ปัจจุบัน แม้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะได้รับการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติแล้ว แต่การออกคำเตือนและการขอความร่วมมือลักษณะข้างต้นก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี จนน่าสงสัยว่าทำไมรัฐบาลไทยถึงแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เสียที และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราเขาเข้าใจกันจริงๆ หรือเปล่าว่าต้นทุนที่สังคมไทยต้องแบกรับจากวิกฤตฝุ่นมันมหาศาลแค่ไหน ในมุมมองทางการแพทย์เราเห็นค่อนข้างชัดว่าฝุ่น PM2.5 ทำร้ายสุขภาพเราอย่างไร แต่ถ้าเป็นมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ล่ะ มันทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศนี้ไปแล้วแค่ไหน เรามาร่วมหาคำตอบกัน

จากข้อมูลใน The Economic Consequences of Outdoor Air Pollution ของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เผยว่า ปัญหามลพิษส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจได้ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ (1) ผลผลิตทางการเกษตร (2) ประสิทธิภาพแรงงาน และ (3) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

(1) ผลผลิตทางการเกษตร – คุณรู้หรือไม่ว่าความเข้มข้นของฝุ่นพิษในอากาศส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดต่ำลง โดยสิ่งนี้มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก แต่ระดับความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาค

(2) ประสิทธิภาพแรงงาน – แน่นอนว่าพิษฝุ่นส่งผลต่อคุณภาพแรงงานโดยตรง โดยเฉพาะในด้านสุขภาพที่คนทำงานเกิดการเจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำลง ในระยะยาวแล้วปัญหานี้จึงสำคัญมาก เพราะมีแนวโน้มที่ผลกระทบจะเกิดต่อเนื่องและสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

(3) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ – ผลพวงจากปัญหาฝุ่นพิษกระทบต่อค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่ารักษา ค่าพบแพทย์ ค่ายา ค่ารถที่นั่งไปโรงพยาบาล ค่าเครื่องฟอกอากาศ ค่าเสียโอกาสในการได้ค่าแรง รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง


ปัจจัยด้านสุขภาพและประสิทธิภาพแรงงานนี้ถือว่าเกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยประสิทธิภาพแรงงานจะเริ่มลดลงก่อน แล้วตามมาด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มคล้องตามประสิทธิภาพแรงงาน โดยเรากำลังจะเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าพิษฝุ่น PM2.5 ในอากาศนี้ไม่ได้ทำร้ายเพียงสุขภาพของเราเท่านั้น แต่ยังทำร้ายสุขภาพเศรษฐกิจและสุขภาวะสังคมของประเทศชาติด้วย

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตัวเลขที่เราต้องรู้

ข้อมูลของ OECD สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชี้ว่าการตีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพยากรถือเป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะในอดีตแม้เราจะรู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีค่า แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่าอากาศที่ดีนั้นมีมูลค่าเท่าไร เมื่อถึงเวลาที่เราลงทุน เราจึงไม่ได้พิจารณาถึงมูลค่าของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก ผลลัพธ์ก็คือเราได้ผลาญทรัพยากรโลกไปอย่างบ้าคลั่ง บ้าเสียจนลูกหลานของเราอาจไม่เหลือทรัพยากรที่เพียงพอต่อการรักษาคุณภาพชีวิตได้

2.173 ล้านล้านบาทต่อปีคือมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ ต่อครัวเรือน และหากพิจารณารายจังหวัดจะพบว่าครัวเรือนทุกจังหวัดของไทย (ยกเว้นภูเก็ต) ต่างได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 นี้กันถ้วนหน้า โดย 5 จังหวัดแรกที่มีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ (มีมูลค่าความเสียหาย 436,330 ล้านบาทต่อปี) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ

17,148 ล้านบาท/ปี คือค่าที่คนกรุงเทพพร้อมจ่ายเพื่อให้ฝุ่นลดลง 1 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เป็นตัวเลขที่ทีมวิจัยได้ประเมินต้นทุนมลพิษทางอากาศของสังคมไทยผ่านแนวคิด Subjective Well-Being (ที่เชื่อว่าความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รายได้ ครอบครัว สิ่งแวดล้อม) โดยได้ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับสิ่งแวดล้อมแล้วสะท้อนเป็น ‘มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย’ น่าสนใจว่าการสำรวจนี้พบว่า คนกรุงเทพพร้อมจ่ายเงิน 5,704 บาทต่อครัวเรือนต่อปีเพื่อทำให้ฝุ่น PM ลดลง 1 ไมโครกรัม/ลบ.ม. (ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรเกือบ 3 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,148 ล้านบาท/ปี)

5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี คือมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้ออย่างนี้ทุกปี อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ซึ่งจะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นอีกมากในระยะยาวสำหรับการสูญเสียทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะเชื่อว่าจะมาจากการลดลงของรายได้ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้ง และโครงการก่อสร้างต่างๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศและค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพจะพุ่งสูงขึ้นแทน

ท้ายสุด ถ้าเราย้อนดูงบประมาณรายจ่ายของประเทศในปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.4% ของเงินงบประมาณทั้งหมด เทียบกับงบด้านเศรษฐกิจที่สูงถึง 6.78 แสนล้านบาท ความแตกต่างของตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญนัก ทั้งที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็อยู่ในวาระแห่งชาติ และอากาศสะอาดก็น่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับ คงต้องจับตากันต่อไปว่าเมื่อประเทศเราตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ทุกภาคส่วนจะเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้กันอย่างไร ก่อนที่มันจะกลายเป็นโรคเรื้อรังกัดกินเศรษฐกิจชาติไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และทุกคนในสังคมอาจต้อง ‘สำลักฝุ่น’ นี้จนฟื้นตัวไม่ขึ้นอีกนาน

Did You Know

PM2.5 กับเศรษฐกิจโลก


รายงานหัวข้อ How to fight the next threat to our world air pollution ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเผยว่า ประชากรโลกกว่า 80% ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากฝุ่น PM2.5 โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.1% ของจีดีพีโลก

อ้างอิงข้อมูล

  • investerest.co
  • Thairath.co.th
  • Mcot.net
  • The101.world
  • aec10news.com



Share
sharefbxx