ถึงฝุ่นจะมีอยู่ทั่วไป แต่ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วอย่าง PM2.5 นั้นร้ายแรงยิ่งกว่าที่เราคิดแน่นอน ลองจินตนาการถึงท่อน้ำที่มีเศษหินมากมายดู หากเป็นหินก้อนใหญ่ไหลมาก็จะติดอยู่ที่ตะแกรงท่อ แต่ถ้าเป็นหินกรวดก้อนเล็กๆ มากมาย รู้ตัวอีกทีก็ท่อตันไปแล้ว แถมยังเอาออกได้ยากเสียด้วย ร่างกายของเราก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีกลไกในการขับฝุ่นออกมา แต่ว่าฝุ่น PM2.5 นั้นสามารถเล็ดรอดผ่านจมูกเข้าไปสู่ปอด และหลอดเลือดก็จะนำพาไปยังอวัยวะอื่นๆ ก่อให้เกิดโรคไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคปอด โรคผิวหนัง ฯลฯ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะรักษาโรคได้ไม่ทันแล้วเหมือนกัน ยังไม่นับสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่แฝงมากับฝุ่นอีกมากมายที่ทำอันตรายแก่ร่างกายของเรา มิหนำซ้ำฝุ่น PM2.5 ยังทำให้เราต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากอนามัย ค่าไส้กรอง ฯลฯ ทุกอย่างกลายเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นเพื่อให้รอดพ้นจากฝุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่แน่ว่าในตอนที่เราแก่เท่าคุณยาย เราอาจจะหมดเงินรักษาโรคปอดที่เราเป็นเพราะฝุ่นก็ได้ คุณภาพในการใช้ชีวิตของเราก็ตกต่ำลงตาม ทั้งที่อยากออกกำลังกายเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง เรากลับออกกำลังกายนอกบ้านไม่ได้ พาเด็กในครอบครัวไปวิ่งเล่นก็ไม่ได้ เด็กๆ ก็เศร้า หดหู่ สิ่งที่เราเสียไปนี้คือ “ต้นทุนทางสังคม” เราเสียเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติที่มีร่างกายแข็งแรงไป เสียกำลังทรัพย์มากกว่าที่ควรเพื่อรักษาสุขภาพตัวเองในปัจจุบันเอาไว้ แล้วเราจะแข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ไหม หากยังมีฝุ่น PM2.5 อยู่กับเรา?
ในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ และจังหวัดทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ เชียงราย จะประสบกับปัญหาฝุ่นควันค่อนข้างหนัก สาเหตุของ PM2.5 นั้น แม้จะมาจากธรรมชาติบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นฝีมือมนุษย์เราเองที่ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่งแจ้งทั้งบนที่นาและป่าไม้ การเผาไหม้จากรถยนต์ การเผาไหม้ในการทำอุตสาหกรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าเรามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่รอบกรุงเทพฯ ถึง 40,218 โรง คิดเป็นกว่า 28% ของโรงงานทั่วประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งคือสาเหตุทางอ้อมที่เรามองไม่เห็นโดยตรงที่เรียกว่า “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ประเทศไทยนั้นมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนเลยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะเราลงทุนกับงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก อย่างในปี 2563 นี้ งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมคิดเป็นเพียง 0.4% ของรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น! หรือกระทั่งว่าประเทศไทยนั้นมีอัตราส่วนของถนนที่เป็นผิวจราจร (ผิวถนนที่รถวิ่งได้) น้อยเกินไป ก่อให้เกิดปัญหารถติดแช่นิ่ง และรถปล่อยไอเสียออกมามากกว่าเดิม มีการเก็บภาษีรถเก่าที่ปล่อยควันเสียมากกว่าในราคาที่ต่ำกว่ารถใหม่ทำให้หลายคนไม่หยุดใช้รถเก่า นอกจากนี้เรายังพัฒนาเมืองแบบเน้นสร้างตึกสูง ทำให้ระบายอากาศออกจากตึกสูงได้ยาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราไม่สามารถแก่ไขได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา แต่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นตอของปัญหา ถึงจะช่วยลด PM2.5 ได้
คนไทยหลายคนรู้สึกว่าฝุ่นพิษนั้นอันตรายก็ตอนที่ค่า PM2.5 จากดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศหรือ Air Quality Index (AQI) นั้นมีปริมาณสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ไม่เกิน 50 และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ แต่กลับแทบไม่มีหน่วยงานของรัฐออกมาเตือนภัยเมื่อมีปริมาณฝุ่นมากกว่ากำหนดหรือพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจาก PM2.5 เลย ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ WHO หรือองค์การอนามัยโลกนั้นกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ไม่เกิน 25 และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยไว้ที่ 35 และ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนสหภาพยุโรป กำหนดแค่ค่าเฉลี่ยรายปีที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วเราก็จะพบว่าประเทศอื่นๆ กำหนดค่ามาตรฐานไว้ต่ำมาก เป็นเพราะปอดคนไทยแข็งแรง หรือรัฐบาลต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ได้สนใจเรากันแน่นะ? ทั้งนี้ ปริมาณฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่าขึ้นแท่นเป็นลำดับแรกๆ ในการจัดลำดับค่าฝุ่น โดยกรุงเทพฯ มีปริมาณฝุ่นเฉลี่ยของพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก! (ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563) ฝุ่นที่เราเห็นเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ใต้ฐานของภูเขาน้ำแข็งที่มองไม่เห็นและมีขนาดใหญ่คือปัญหาที่เกี่ยวกับแผนการพัฒนาประเทศตั้งแต่สมัยก่อนหน้านี้ รวมไปถึงงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงทุนด้านอื่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลในทุกยุคสมัยนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ
วิธีปกป้องตัวเองจากฝุ่นทำได้หลายวิธี วิธีที่นิยมใช้ก็คือการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งจะทำให้บริเวณนั้นๆ มี PM2.5 ในปริมาณที่ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียคือช่วยดูดฝุ่นออกไปได้ในบริเวณที่จำกัดและมีราคาสูง ยังไม่นำการซ่อมบำรุงและค่าเปลี่ยนไส้กรอง และอีกวิธีหนึ่งที่ควรปฏิบัติเป็นประจำคือใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กลางแจ้ง โดยต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่นได้ละเอียดมากพออย่างชนิดที่เรียกว่า N95 หรือควรเป็นหน้ากากชนิดอื่นที่ใส่แผ่นกรองเพิ่ม หากขับรถยนต์แล้วรถติด อาจลองเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณควันจากการเผาไหม้ และสัมผัสกับฝุ่นเท่าที่จำเป็น คือต้องลดเวลาที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในพื้นที่มีฝุ่นลง เช่นเปลี่ยนไปออกกำลังกายในฟิตเนส เล่นกับลูกๆ ในบ้านแทน แต่หากเลี่ยงไม่ได้เพราะจำเป็นต้องเดินทางหรือทำงาน ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเสมอ ที่สำคัญอย่าลืมติดตามข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณของ PM2.5 อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เตรียมพร้อมปกป้องตัวเองได้ทันและสังเกตอาการตนเองอยู่ตลอด ในปัจจุบันมีหลายแอพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่เข้าถึงปริมาณค่าฝุ่นได้ง่ายๆ จากจอโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น การติดตามค่าฝุ่นและสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
เรายังไม่ได้หมดหวังนะ! หากคุณที่กำลังอ่านอยู่ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับโครงสร้าง เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการได้ ผ่านการร่วมลงชื่อหรือ “เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. 2563” ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เราและลูกหลานได้หายใจอากาศที่สะอาดขึ้นโดยไม่ต้องกังวลในอนาคต มีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่กรอกเอกสารแบบฟอร์มหมายเลข 7 และถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน แล้วส่งมาที่เครือข่ายอากาศสะอาด เมื่อครบ 10,000 ชื่อ เอกสารของเราทุกคนจะถูกนำไปเสนอต่อรัฐสภา มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเพื่ออนาคตของเราเองร่วมกันนะ
เครือข่ายอากาศสะอาด